ประธานชมรม รพศ./รพท. เผยมุมมองต่อ นโยบายปลัดสธ. ใช้เงินบำรุงเคลียร์หนี้ พร้อมพัฒนาระบบบริการเพื่อประชาชน ชี้ทำได้ใน รพ.ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป มีรายรับเพิ่มขึ้นจากโควิดจริง แต่ รพ.ขนาดเล็กบางแห่งไม่ได้รับคนไข้โควิดมาก ดังนั้น จำเป็นต้องพิจารณาในเขตสุขภาพ เพื่อให้ รพ.ใหญ่ สภาพคล่องดีช่วย รพ.เล็ก ที่ยังมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน พร้อมเผยกรณีใช้งบบำรุงสร้างที่พักบุคลากร ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ เน้นปรับปรุงของเดิมให้ดีขึ้นได้
ตามที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ออกนโยบายให้โรงพยาบาลต่างๆ นำงบฯ จากเงินบำรุงที่เพิ่มขึ้นจากสถาานการณ์โควิด-19 เดิมรพ.งบติดภาวะวิกฤตระดับ 7 ลดลง และมีเงินเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาทให้นำมาเคลียร์หนี้สิน ทั้งหนี้บุคลากร หนี้ค่ายา เวชภัณฑ์ จากนั้นนำมาปรับปรุงซ่อมแซมที่พักบุคลากร และนำมาพัฒนาระบบบริการประชาชน ทั้งลานจอดรถ ทั้งระบบการดูแลรักษาทางไกล "ทางการแพทย์ดิจิทัล" โดยรพ.ไหนงบมาก ให้มีการวางแผนช่วยเหลือ รพ.เล็กๆ ในเขตสุขภาพของตน แบบ "พี่ช่วยน้อง" นั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.มอบนโยบาย รพ.ทุกแห่งเคลียร์หนี้สินให้หมด โดยเฉพาะอันไหนค้างบุคลากรต้องให้เสร็จภายใน 1 เดือน)
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี ให้สัมภาษณ์ Hfocus เรื่องนี้ว่า สำหรับนโยบายท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์) ในเรื่องการนำเงินบำรุงมาปรับใช้ตามนโยบายต่างๆนั้น ในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) มีประมาณ 120 กว่าแห่ง มีรายรับเพิ่มขึ้นจากโควิดจริง ซึ่งทำให้สามารถบริหารหนี้ที่มีได้ ทั้งค่าตอบแทน ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ หนี้ตามจ่ายโรงเรียนแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลที่เราส่งต่อ ตรงนี้จะช่วยได้
"อีกประเด็นคือ โรงพยาบาลหลายแห่งก็สามารถนำเงินมาช่วย รพ.เล็กได้ เพราะรพ.เล็กบางแห่งไม่ได้รับคนไข้โควิดมาก จึงไม่ได้ประโยชน์จากงบโควิดช่วงนี้ ดังนั้น ในแต่ละจังหวัดก็จะหารือกันว่า รพ.ใหญ่ที่มีงบส่วนนี้อาจนำมาช่วยรพ.เล็กเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน" นพ.อนุกูล กล่าว
นพ.อนุกูล กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการพัฒนาต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น หลังจากรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดูแลปชช.สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์การเงินขาดทุนเรื่อยๆ เพียงแต่ยังมีรายได้จากช่องทางอื่นๆ เช่น ประกันสังคม ประกันชีวิต เบิกได้ ทำให้พอประคับประคองได้ การพัฒนาไม่มากนักแต่ตอนนี้เป็นโอกาสที่มีเงินบำรุงเพิ่ม รพ.ก็จะสามารถนำมาปรับปรุงส่วนต่างๆ เพื่อบริการประชาชนได้ดีและมากขึ้นเพราะที่ผ่านมารพ.หลายแห่งมีความทรุดโทรมมาก แต่ไม่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะไม่มีเงินจริงๆ แค่ซื้อเครื่องมือแพทย์มาทดแทนเครื่องที่ชำรุดก็ลำบาก แต่ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสหนึ่งจากนโยบายของกระทรวงฯ ให้มีการพัฒนาก็ถือเป็นเรื่องดี
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนโยบายให้ปรับปรุงบ้านพักบุคลากร เจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องสร้างใหม่ หรือปรับปรุงของเดิมประธานชมรม รพศ.รพท. กล่าวว่า นโยบายนี้เน้นประเด็นปรับปรุงบ้านพัก เช่น บ้านพักเจ้าหน้าที่ ใช้มา 30 ปีมีปัญหาทรุดโทรมต่างๆ อย่างน้ำรั่ว ก็สามารถซ่อมแซมปรับปรุง แต่หากจะสร้างเป็นหอพักขนาดใหญ่ก็ต้องรองบประมาณใหม่ หรือแม้แต่เรื่องการพัฒนาลานจอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนนั้น จริงๆ เป็นการปรับปรุงจากของเดิมที่เรามี เพียงแต่ไม่สามารถทำต่อเนื่องเพราะขาดงบประมาณ เมื่อตอนนี้ทำได้ก็ให้ทำต่อ เป็นต้น นอกจากนี้ อย่างการปรับปรุงระบบสิ่งแวดล้อม บำบัดน้ำเสีย การจัดการขยะติดเชื้อ ต้องมีการดำเนินการให้ดี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและเพื่อความปลอดภัยของชุมชน
เมื่อถามว่าอย่างงบประมาณเพื่อดำเนินการในส่วนดิจิทัลทางการแพทย์ จริงๆ รพ.ส่วนใหญ่มีการดำเนินการมาก่อนแล้วหรือไม่ นพ.อนุกูล กล่าวว่า ขึ้นกับรพ.แต่ละแห่ง ส่วนหนึ่งมีการพัฒนามา 2-3 ปีแล้ว เพียงแต่เทคโนโลยีก็เดินหน้าเรื่อยๆ ก็ต้องลงทุนต่อไป เพื่อการบริหารรูปแบบใหม่ อย่าง “เทเลเมดิซีน” (Telemedicine) หากพัฒนาระบบดีๆจะลดคนไข้มา รพ. นอกจากลดความแออัด ยังลดค่าใช้จ่ายของคนไข้ได้ ทั้งเรื่องค่าเดินทาง ค่าคนพามา อย่างชมรมรพศ.รพท. เคยคำนวณพบว่า คนไข้ 100 คนประมาณ 20 กว่าคน สามารถให้การรักษาแบบเทเลเมดิซีน โดยใน 20 คนนี้มีครึ่งหนึ่งที่พร้อมใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายที่คนไข้ต้องจ่ายเอง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหารค่าแรงคนพารพ. ตกเฉลี่ย 600-700 บาทต่อการมารพ. 1 ครั้ง ตรงนี้ถ้าทำได้ จะประหยัดเงินของผู้ป่วยลงได้มาก
"ทั้งหมด คือ ภาพรวม ส่วนจะทำได้รพ.กี่แห่งอย่างไรนั้น ต้องอยู่ที่รพ.นั้นๆ ซึ่งตามนโยบาย รพ.ที่มีงบเยอะก็อาจต้องช่วย รพ.ขนาดเล็ก คล้ายๆพี่ช่วยน้อง ในจังหวัดหรือในเขตสุขภาพ เรียกว่า เป็นการบริหารแบบเขตสุขภาพ ช่วยเหลือกัน" นพ.อนุกูล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนรพ.ราชบุรี จะมีการบริหารจัดการอย่างไร นพ.อนุกล กล่าวว่า เดิม รพ.ราชบุรี ติดลบ 200-300 ล้านบาท ขณะนี้กลับขึ้นมาได้ ซึ่งก็จะมีการบริหารจัดการตามนโยบายท่านปลัด สธ. โดยจะจ่ายหนี้บุคลากรก่อนทั้งค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งสามารถทำได้เร็วสุด 1 เดือน ตามนโยบายปลัดกระทรวงฯ แต่หากต้องล่าช้าออกไปก็อาจติดขัดเรื่องเอกสาร เพราะต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งอาจดีเลย์บ้างไป 1 เดือน
"สิ่งสำคัญการบริหารงบจากเงินบำรุงเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีการเคลียร์หนี้สินก่อน อันดับแรกจ่ายหนี้บุคลากร จากนั้นก็เคลียร์เรื่องหนี้ค่ายา เวชภัณฑ์ ฯลฯ และมาวิเคราะห์ในการพัฒนาส่วนต่างๆ รวมทั้งพิจารณาในกลุ่มเขตสุขภาพของเราว่า จะสามารถนำเงินมาช่วยรพ.ขนาดเล็กอย่างไรต่อไป" นพ.อนุกูล กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 800 views