ปลัดสธ.เดินหน้าหาแหล่งเงินนอกงบประมาณตามนโยบาย “สมศักดิ์” ทั้ง เงินบำรุง ร่วมเอกชน งบกองสลาก ฯลฯ เผยเงินบำรุงช่วงโควิดลดลง หลังผ่านมา 2 ปี เหตุใช้พัฒนาที่พักเจ้าหน้าที่ อาคารสถานที่ต่างๆ ส่วนกรณีพบข้อมูล รพ.ขาดสภาพคล่องวิกฤติสีแดง 24 แห่ง มอบผู้ตรวจฯ รีเช็ก! หวั่นตัวเลขไม่นิ่ง ย้ำ! ที่ไหนใช้เงินเกินตัว ให้ตรวจสอบทันที
ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในการเตรียมหาเงินนอกงบประมาณช่วยบริหารจัดการโครงการต่างๆของ สธ. ไม่พึ่งพาภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องหาช่องทางอื่น โดยชูอีกทางเลือกคือ การขอรับเงินสนับสนุนจากกองสลากนั้น
สธ.ใช้งบลงทุนเพียง 10% ยังเหลือช่องว่าง
เมื่อเร็วๆนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยบริการ สถานพยาบาลจำนวนมาก อย่างแต่ละวันดูแลประชาชนวันละ 1 ล้านคน ดูแลผู้ป่วยในประมาณ 1 แสนคน จึงต้องใช้งบประมาณการลงทุนจำนวนมาก ทั้งนี้ หากพิจารณาองค์กรขนาดใหญ่ที่ใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 20% ของงบรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งเมื่อทบทวนในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าใช้เพียง 10% เท่านั้น แสดงว่ายังมีช่องว่างของการใช้งบประมาณอยู่เยอะ
อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาได้รับงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ประมาณหมื่นกว่าล้านบาท โดยนำมาใช้ในการบริหารจัดการสิ่งที่ทรุดโทรม ก็แทบไม่เหลือ จึงต้องหาแหล่งงบประมาณอื่นๆ มาดำเนินการพัฒนางานของกระทรวงสาธารณสุข
รมว.สธ.ให้นโยบายใช้งบแหล่งอื่น
“ท่านรัฐมนตรีว่าการสธ. ได้ให้แนวนโยบายว่า 1.นอกจากงบประมาณแล้ว 2. ใช้เงินบำรุงได้หรือไม่ 3.ร่วมมือกับเอกชนในการร่วมลงทุน หรือจัดจ้างเอกชนมาร่วมลงทุน และ4.อาจเป็นเงินกู้ ซึ่งจริงๆ มีหลายแหล่งงบประมาณก็ต้องดูความเหมาะสม อย่างเงินที่จะใช้เยอะก็จะเป็นงบประมาณของรัฐบาล หรืองบเงินกู้ ส่วนที่ไม่เยอะมากนัก ขนาดย่อมลงมาอาจใช้เงินบำรุง ในโรงพยาบาลที่มีงบประมาณเพียงพอ และอันไหนสามารถจ้างเอกชนมาดำเนินการได้ดีกว่าก็ให้จัดจ้าง ซึ่งเงินจากกองสลาก ก็เป็นอีกแหล่งที่จะนำไปพิจารณา” ปลัดสธ.กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า อย่างการร่วมกับภาคเอกชนนั้น ที่ผ่านมาหลายหน่วยก็ทำแบบนี้ เช่น ศูนย์หัวใจ ส่วนใหญ่จัดจ้างเอกชน ข้อดีทำได้เร็ว และไม่ต้องกังวลบุคลากร เพราะเอกชนจัดหามาได้ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการสธ. ให้แนวทางไว้ว่าควรหางบประมาณจากแหล่งอื่นๆมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และให้บริการประชาชนดีขึ้น
ปลัดสธ.สั่งรวบรวมข้อมูล “เงินบำรุง” เริ่มวิกฤติสีแดง
ผู้สื่อข่าวถามว่า อย่างแหล่งเงินบำรุง จะเพียงพอหรือไม่ เพราะขณะนี้ รพ.หลายแห่ง เริ่มขาดสภาพคล่องถึงขนาดวิกฤตสีแดง นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้มอบหมายให้ไปทบทวน เนื่องจากเงินบำรุง จะมีแผนดำเนินการที่เรียกว่า แผนเงินบำรุงประจำปี ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ปี 2568 จึงได้ให้แต่ละโรงพยาบาลทำแผนการใช้เงินบำรุง เพื่อให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) พิจารณาและอนุมัติ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ กำกับตรวจสอบ ซึ่งโรงพยาบาลไหนที่สามารถนำเงินมาพัฒนา ก็ทำได้ แต่ส่วนไหนที่ติดลบก็ต้องไปตามดูว่ารายรับรายจ่ายเป็นอย่างไร และพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น
“เรื่องเงินบำรุงก็ต้องเห็นใจ เพราะบางโรงพยาบาล ประชากรเขาน้อย เนื่องจากตอนจัดสร้างโรงพยาบาลมา มีประชากรในพื้นที่ที่รับผิดชอบน้อย การได้รับงบประมาณ หรืองบเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว จะไปโทษรพ.ไม่ได้ แต่รพ.ไหนที่ใช้เงินเกินตัว ไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องตรวจสอบ กำชับ กำกับ” ปลัดสธ.กล่าว
รีเช็กตัวเลข 24 รพ.ขาดสภาพคล่องวิกฤติสีแดง จริงหรือ..
เมื่อถามย้ำว่าขณะนี้มีข้อมูลแชร์กันในแวดวงสาธารณสุขว่า รพ.เริ่มติดลบวิกฤติสีแดงถึง 24 แห่ง จริงหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขไปตรวจสอบตัวเลขก่อน เพราะบางทีตัวเลขไม่ตรงกัน ตอนนี้ได้สั่งการให้ผู้ตรวจไปตรวจสอบในเขตรพ.ของตนเองที่ติดลบ ซึ่งต้องรอดูข้อมูลอีกครั้ง
ถามอีกว่ามีข้อกังวลในรพ.หลายแห่ง เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สปสช.จัดสรรงบไม่เพียงพอ และอีก 2 เดือนข้างหน้าอาจมีการหักงบจาก รพ.อีก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. ยังไม่ได้แจ้งเข้ามา ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลดังกล่าว ต้องหารือเรื่องนี้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้งบประมาณช่วงโควิด ทำให้มีเงินบำรุง ขณะนี้คือไม่เหลือแล้วหรือ..นพ.โอภาส กล่าวว่า โควิดผ่านมา 2 ปีแล้ว และที่ผ่านมาได้ใช้เงินพัฒนาเรื่องบ้านพักบุคลากร เจ้าหน้าที่ อาคารสถานที่ไปพอสมควร ดังนั้น เงินรายรับรายจ่ายแต่ละรพ.ก็ต้องมาดู ซึ่งแนวโน้มก็ลดลง
- 3482 views