เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 ที่โรงแรมเฮือนต้นนุ่น อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ หากเข้าไปสะสมในถุงลมฝอยของปอด แทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ สสส. ห้างหุ้นส่วนจำกัดเติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เร่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปถึงระดับนโยบาย ริเริ่มโครงการสร้างองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก มุ่งพัฒนาแนวทางการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรตามบริบทของ 4 พื้นที่เสี่ยง 1.ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน พะเยา) 2.พรมแดนระหว่างประเทศ (ไทย-ลาว) 3.ภาคกลาง (กรุงเทพฯ) 4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุดรธานี ขอนแก่น) เพื่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 นำไปสู่นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า สสส. เร่งขยายพื้นที่ต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น จากเดิม 30 โรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ครอบคลุม 140 โรงเรียนทั่วประเทศในปี 2565 เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ผ่านการสร้างองค์ความรู้ โดยมีนักเรียนเป็นแกนกลางสู่การตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น ล่าสุดได้ขยายผลมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เริ่มที่จังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรก และต่อไปยังอุดรธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ประสบภาวะวิกฤตปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากพฤติกรรมการเผาภาคการเกษตร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม www.ห้องเรียนสู้ฝุ่น.com

นายรุจติศักดิ์ รังสี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์การเกิดจุดความร้อนหรือ Hotspot ของจังหวัดขอนแก่น 10 ปีย้อนหลัง (2555-2564) พบจุดความร้อนตั้งแต่ ธ.ค. ถึง มี.ค. เหมือนกันทุกปี สาเหตุหลักเกิดจากกิจกรรมการเผาภาคเกษตร โดยเฉพาะการเผาในไร่อ้อย ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและส่งผลต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ จึงได้ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการสร้างองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 มุ่งเป้าสร้างโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรงเรียน

“ขอนแก่น ถือเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในไทย เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อยต้องใช้การเผาเป็นหลัก นโยบายต่างๆ ของจังหวัดที่ออกประกาศห้ามเผา อาจใช้ไม่ได้ผลเท่าพลังของคนในชุมชนและสังคมห้องเรียนสู้ฝุ่น จึงถือเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ ที่ทำให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชน ร่วมรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดการเผา สิ่งสำคัญคือ การสร้างพลเมืองให้สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชนถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM 2.5 จนเกิดเป็นการเปลี่ยนค่านิยมลดการเผาในที่โล่งเป็นศูนย์ภายในปี 2566   สู่การเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาและงดเผาอ้อยไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้” นายรุจติศักดิ์ กล่าว

นายศราวุธ นาเสงี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 3 หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส. กล่าวว่า โรงเรียนเคยประสบกับปัญหาฝุ่นควันจนต้องหยุดทำการเรียนการสอน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการของ สสส. ทางโรงเรียนได้เพิ่มกิจกรรมห้องเรียนสู้ฝุ่น เสริมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เรียนรู้เรื่องพิษภัยและวิธีป้องกันฝุ่นในระดับชั้นมัธยมศึกษา สอดคล้องนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงวิเคราะห์หาสาเหตุและผลกระทบ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ จิตสำนึกที่ดี ทำให้เด็กมีความรู้ สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่น และแสดงค่าฝุ่นแจ้งเตือนสถานการณ์วิกฤต ผ่านแอปพลิเคชัน BLUESCHOOL สิ่งสำคัญนักเรียนได้นำความรู้เรื่องการไม่เผาไร่อ้อยส่งต่อไปยังผู้ปกครองและชุมชน แนะนำการกำจัดด้วยการหมักทำปุ๋ย ทำน้ำมันไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org