ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.เผยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทำคนไทยป่วย โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาอักเสบ สานพลัง กทม.-ภาคี อบรมเชิงปฏิบัติการเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล พร้อมมอบเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล เตาแก๊สซิไฟเออร์ เครื่องย่อยฟาง เครื่องอัดแท่งฟางข้าว ให้ กทม. ขยายสู่ภาคการเกษตร ลดปัญหา PM 2.5 จากการเผาในที่โล่ง       

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวสามวาตะวันออก ชุมชนอาสาพัฒนา เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล โครงการ สานพลัง ขับเคลื่อน เคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) พร้อมมอบเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล เตาแก๊สซิไฟเออร์ เครื่องย่อยฟาง และเครื่องอัดแท่งฟางข้าว ให้ กทม. เพื่อไปขยายสู่ภาคการเกษตร ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 จากการเผาในที่โล่ง 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหาจากฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยเป็นวงกว้าง ข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ล่าสุด เดือน ส.ค. 2567 ของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข จากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศกว่า 8,400,000 คน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่หญิงไทยป่วยติดอันดับ 1 และชายไทยป่วยเป็นอันดับ 2 สะท้อนความรุนแรงจากพิษภัยของฝุ่น PM2.5  อย่างชัดเจน

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า จากผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้น สสส. ได้ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยกำหนดให้ "การลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม" เป็น 1 ใน 7 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส. (พ.ศ. 2565 - 2574) มุ่งเป้าใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

1. มลพิษทางอากาศ 
2. มลพิษอุตสาหกรรม 
3. มลพิษจากขยะมูลฝอย 

จึงเกิดโครงการสานพลัง ขับเคลื่อน เคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง(หลวง) ร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่าย เพื่อลดแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ผ่านการสร้างกิจกรรมใช้เครื่องต้นกำลังพลังชีวมวล ลดการเผาจากภาคเกษตร โดยนำร่องที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวสามวาตะวันออกเป็นที่แรก พัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบ ไม่สร้างฝุ่นจากการเผาเศษซากการเกษตร และลดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้ในอนาคต

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นเกิดขึ้นตลอดทั้งปี  โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่เป็นฤดูเผาค่าฝุ่นก็จะพุ่งสูงขึ้น ที่แม้จะไม่เกิดการเผาในเมืองหลวงโดยตรง แต่ฝุ่นควันจากภูมิภาคอื่นจะพัดเข้าสู่เมืองด้วยกระแสลม ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 สูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นการจะแก้ปัญหาฝุ่นต้องจัดการทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดด้วย โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นกระบวนการลดการเผาในที่โล่ง เปลี่ยนฟางเป็นไฟฟ้า ด้วยนวัตกรรมเครื่องต้นกำลังพลังชีวมวล ซึ่งนอกจากลดฝุ่นได้แล้วยังสามารถนำไฟฟ้ามาใช้ในภาคการเกษตรได้ หรือแม้แต่เจออุทกภัย หรือน้ำท่วม ก็สามารถมีไฟฟ้าใช้ได้เช่นกัน 

ว่าที่ ร.ต.วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า แหล่งที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดมาจากภาคการจราจรขนส่งทางบกเป็นหลัก รองลงมาคือการเผาในที่โล่งภาคการเกษตร ดังนั้นการดัดแปลงรถยนต์ดีเซลเก่าเป็น EV จึงเป็นการช่วยลดแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 ในภาคการจราจรขนส่งทางบก และการนำเครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่ถูกเปลี่ยนไปเป็น EV มาเป็นเครื่องต้นกำลังพลังชีวมวล นอกจากลดฝุ่นแล้ว ยังลดภาวะโลกร้อน ช่วยลดการหมักที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนที่มีพิษเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือการสานพลังความร่วมมือ เพื่อให้ปัญหาฝุ่นยั่งยืน คนในชุมชนได้ปรับตัวเตรียมรับมือกับฤดูกาลฝุ่นที่จะมาช่วงต้นปี

น.ส.จินตนา เชียงไชยสกุลไทย หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการเกษตร ส่วนส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สำนักพัฒนาสังคม ได้ดำเนินการลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยการจัดกิจกรรมคือ

1.ส่งเสริมให้เกษตรกรอัดฟางก้อนเพิ่มรายได้

2.ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว

3.รณรงค์พร้อมจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรให้งดการเผาอย่างต่อเนื่อง

4. ติดตาม ประสานสำนักงานเขตให้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรายงานแบบ Real Time เมื่อพบจุดความร้อน

จนสามารถลดพื้นที่เผา จาก5,625 ไร่ ในพื้นที่เขต หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา ลดลงเหลือ 625 ไร่ ในพื้นที่เขต หนองจอก โดยมีเป้าหมายในปี 2569 พื้นที่เผาเป็นศูนย์ และการมีเครื่องต้นกำลังพลังชีวมวลเป็นตัวช่วย จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น