นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ถือเป็นบุคลากรของสถานพยาบาลเอกชน ทั้งโรงพยาบาล และคลินิก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแล กำกับ การดำเนินงานของสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ อาทิ การควบคุมดูแลให้แพทย์ผู้ให้บริการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐาน ควบคุมมิให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ มาประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล รวมถึง ดูแล ความสะอาด เรียบร้อยของสถานพยาบาล หากขาดแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไปแล้วก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อมาตรฐานการบริการ หรือผู้รับบริการ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรม สบส.ก็ได้มีการกวดขัน ตรวจตรา และดำเนินการการกับคลินิกที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มักจะไม่มีแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ประจำที่คลินิกในขณะที่เกิดเหตุ แต่ก็มีในบางกรณี ที่คลินิกจ้างแพทย์ให้มาเป็นผู้ดำเนินการ โดยนำเพียงชื่อของแพทย์มาแขวนป้ายแต่ไม่มีแพทย์ผู้ดำเนินการอยู่ประจำที่คลินิกแต่อย่างใด ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ ทั้งในด้านสุขภาพ ร่างกาย หรือในบางครั้งอาจรุนแรงถึงชีวิต อีกทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายสถานพยาบาล โดยกรม สบส.จะจัดทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวัง ตรวจตรา สื่อของสถานพยาบาลเอกชนที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อป้องกันมิให้มีการเชิญชวน หรือรับสมัครแพทย์ให้แขวนป้ายเป็นผู้ดำเนินการ หากพบแห่งใดมีการรับจ้างแพทย์มาแขวนป้ายก็จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษรุนแรงถึงขั้นจำและปรับ อีกทั้ง กรม สบส.อาจจะมีคำสั่งทางปกครองสั่งปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรือถาวรอีกด้วย

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการคลินิกทุกแห่ง จัดให้มีแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ประจำที่คลินิกตลอดระยะเวลาทำการ หากไม่ปฏิบัติตามแล้วผู้ประกอบกิจการ ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งมีความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแพทย์ที่ยินยอมให้คลินิกนำชื่อมาแขวนป้ายก็จะมีการดำเนินคดีด้านจริยธรรมทางการแพทย์ โดยแพทยสภา จึงขอให้แพทย์ผู้ดำเนินการทุกท่านปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีการปฏิบัติงานอยู่ที่คลินิกตลอดระยะเวลาทำการ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุไม่คาดคิดต่อประชาชนในการรับบริการทางการแพทย์ และสำหรับแพทย์รายใหม่ที่ต้องการจะเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็ขอให้ยื่นเรื่องขออนุญาตจากผู้รับอนุญาต หากสถานพยาบาลตั้งอยู่ ในกรุงเทพฯ ก็ให้ยื่นเรื่องกับศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ กรม สบส. แต่หากอยู่ต่างจังหวัดก็ให้ยื่นเรื่องกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดยในกรณีของคลินิกแพทย์หนึ่งท่านจะสามารถเป็นผู้ดำเนินการได้ไม่เกิน 2 แห่ง โดยวัน เวลาปฏิบัติงานต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน และจะต้องเผื่อระยะเวลาเดินทางด้วย ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็น หรือมีเบาะแสการกระทำผิดมาตรฐานทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org