ชมรมเภสัชชนบท ออกแถลงการณ์ ให้รัฐหยุดใช้กัญชาเสรีที่เกินขอบเขตทางการแพทย์  พร้อมเสนอ 5 ข้อต้องเร่งดำเนินการ ทั้งระงับปลูกกัญชาที่ทำได้อย่างเสรี ไม่มีการควบคุม หยุดให้มีการจำหน่ายช่อดอกกัญชาอย่างเสรีในที่สาธารณะ  การจำหน่ายนำไปเป็นส่วนผสมอาหาร หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ต้องแจ้งแสดงให้ผู้บริโภคและปชช.ทราบ ฯลฯ

 

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2565  ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท ลงนามในแถลงการณ์ชมรมเภสัชชนบท

เรื่อง ให้รัฐหยุด “การใช้กัญชาเสรีที่เกินขอบเขตทางการแพทย์”  ใจความระบุว่า

ชมรมเภสัชชนบทมีจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอดในการสนับสนุนให้มีการใช้ “กัญชาทางแพทย์”  โดยผู้ป่วยประชาชนเพื่อการพึ่งตนเอง เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ในการควบคุมกัญชา เมื่อ 9 มิถุนายน 2565 เครือข่ายเภสัชกรซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติทั้งในต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำในระดับชุมชน ได้พบข้อกังวลเมื่อพบว่าสังคมอยู่ในสภาวะ “เสรีกัญชาอย่างทั่วถึง” เกิดการใช้อย่างล้นเกินและรวดเร็วในทางสันทนาการเกินไปกว่าเจตนารมย์พึ่งพาตนเองทางการแพทย์ กลุ่มเปราะบางและเยาวชนได้รับผลกระทบในทันที ขณะที่มาตรการป้องกันไม่เข้มแข็งเพียงพอ เกิดภาวะสับสนรายวันในการบังคับหลักเกณฑ์ข้อบังคับ

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเตรียมกฎหมายเฉพาะในการควบคุมกัญชา จากสถานการณ์ที่สังคมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและมีแนวโน้มว่ากลุ่มเปราะบาง เยาวชนและผู้ป่วยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังให้ได้รับผลไม่พึงประสงค์หากรัฐยังคงนโยบายเดิม ไม่หยุด “การใช้กัญชาเสรีที่เกินขอบเขตทางการแพทย์”

ชมรมเภสัชชนบทในฐานะหน้างานที่ใกล้ชิดประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบ จึงขอให้รัฐดำเนินการ

1. ระงับการปลูกกัญชาที่ทำได้อย่างเสรีไม่มีการควบคุม มาตรการปัจจุบันที่ให้จดแจ้งไม่มีศักยภาพเพียงพอ

2.หยุดให้มีการจำหน่ายช่อดอกกัญชาอย่างเสรีในที่สาธารณะ การอนุญาตจำหน่ายต้องมีสถานที่ชัดเจน ได้รับอนุญาต จำกัดจำนวนและปริมาณและผู้ที่สามารถใช้ได้

3. การจำหน่าย นำไปเป็นส่วนผสมในอาหาร ผลิตภัณฑ์อื่นใดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ต้องแจ้ง/แสดงให้ผู้บริโภคและประชาชนทราบ

4. การเฝ้าระวัง ติดตามและรักษาผู้ที่ได้รับผลที่ไม่พึงประสงค์จากการได้รับกัญชา(ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ต้องเกิดขึ้นและมีการปฏิบัติในทุกพื้นที่ทันที

5. รัฐและบุคลากรทางการแพทย์หยุดมุ่งเน้นการจัดกิจกรรม สร้างภาพลักษณ์การใช้เพื่อสันทนาการ และไม่สร้างให้เกิดการส่งเสริมการใช้โดยกลุ่มเปราะบาง เยาวชนหรือผู้ป่วย

กัญชาเพื่อการพึ่งตนเองทางการแพทย์ เป็นเจตนาที่สำคัญในการสร้างศักยภาพให้ประชาชนยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อให้สังคมมีทิศทางการใช้กัญชาที่ถูกต้องและก้าวหน้า