เครือข่ายลดอุบัติเหตุ เปิดเวทีสาธารณะ ถกประเด็น “คาร์ซีท คาใจ เลือกแบบไหนเพิ่มความปลอดภัยให้ลูก” แนะความสำคัญที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก พร้อมรับฟังปัญหา-ข้อเสนอแนะ เผยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กลดเสี่ยงตายในเด็กทารกและเด็ก1-4 ปี ได้ร้อยละ 69 เด็กอายุมากกว่า 5 ปี ได้ร้อยละ 45 ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ขณะที่องค์การอนามัยโลกชี้ประเทศไทยยังใช้น้อยมากในแต่ละปี ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 1,000 ราย เพราะไม่มีอุปกรณ์รัดตรึงขณะโดยสาร-หลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ  

วันที่ 18 พ.ค.65 ที่รร.ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ - สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสาธารณะ “คาร์ซีท คาใจ  เลือกแบบไหนเพิ่มความปลอดภัยให้ลูก” ร่วมรับฟังข้อมูล ข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (คาร์ซีท)

หลังจากประกาศราชกิจจานเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เรื่อง พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ในมาตราที่ 123 ระบุว่า ในขณะขับรถยนต์ เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และคนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 2,000 บาท  และจะมีผลใช้บังคับในอีก 120 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา    


 

นายพรหมมินทร์  กัณธิยะ  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ  กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะสร้างความปลอดภัยให้ลูกโดยจัดให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าที่นั่งนิรภัยปลอดภัยสำหรับเด็ก 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) มีเด็กอายุ 0 - 6 ปีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 คน พบว่า 221 คน เกิดจากโดยสารรถยนต์ เฉลี่ยปีละ 44 คน โดยเด็กไทยใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เพียง 3.46% เท่านั้น ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานว่าที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กสามารถลดความสูญเสียหรือลดการเสียชีวิตของเด็กเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้มากถึงร้อยละ 70 จึงได้พยายามที่จะผลักดันให้ทุกประเทศให้ความสำคัญ

พร้อมกันนี้ยังได้ประเมินประเทศไทยว่ามีการใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กน้อยมากในแต่ละปี ทำให้เสี่ยงที่จะมีเด็กที่โดยสารในรถยนต์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เกือบ 1,000 ราย เกือบทั้งหมดไม่มีอุปกรณ์รัดตรึงขณะโดยสาร เมื่อเกิดเหตุเด็กจะกระเด็นกระแทกภายในรถยนต์ กระจกหรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ  ซึ่งต่อจากนี้รัฐควรต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการต้องใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กอย่างจริงจัง

รศ.นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์  หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การเดินทางปลอดภัยต้องใช้เข็มขัดนิรภัยและที่นั่งนิรภัย เมื่อเกิดการชนกระแทกความเร็วของรถยนต์ลดลงอย่างกะทันหัน แต่ผู้โดยสารยังเคลื่อนที่ทำให้ชนกระแทกถูกโครงสร้างภายในรถยนต์หรือกระเด็นออกนอกรถ ดังนั้นการยึดเหนี่ยวไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ต่อเมื่อรถยนต์ถูกหยุดยั้งให้ลดความเร็วลงกะทันหัน จึงเป็นหลักการที่สำคัญในการสร้างความปลอดภัย ดังนั้นที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในการโดยสารรถยนต์(child seat) จึงเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลลดการตายของเด็กจากการเดินทางด้วยรถยนต์อย่างมาก

ซึ่งปีค.ศ.1983 ได้มีการศึกษาพบว่าที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกและเด็ก1-4 ปีถึงร้อยละ 69 ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุมากกว่า 5 ปีได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงร้อยละ 50 (Charles,1986)( Hertz,1996) สำหรับข้อแนะนำ คือ 1. ที่นั่งนิรภัยต้องใช้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด และเด็กอายุ 2-6 ปี ควรใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็กที่มีที่ยึดเหนี่ยวในตัวนั่งหันหน้าไปด้านหน้า (forward facing seat) มีสายรัดตัวเป็นแบบยึดเหนี่ยวร่างกายเด็กไว้ 5 จุด 2. การอุ้มเด็กนั่งตักในเบาะหน้าคือจุดที่อันตรายที่สุดในรถ

3. เด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี ให้นั่งเบาะหลังเสมอ ความเสี่ยงต่อการตายจะลดลงสองเท่าตัว 4.การใช้ระบบยึดเหนี่ยวในรถเป็นมาตรการลดการบาดเจ็บการตายที่สำคัญจากการกระเด็นทะลุกระจกหรือลอยจากที่นั่งตามความเร็วรถชนกระแทกโครงสร้างภายในรถหลังอุบัติเหตุรถชนหรือคว่ำ 5.เด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยให้เหมาะสมตามวัย และต้องยึดเหนี่ยวให้ถูกวิธี ตามคําแนะนําของแต่ละผลิตภัณฑ์และ

6. เด็กที่จะใช้เข็มขัดนิรภัยได้เหมาะสมปลอดภัยก็ต่อเมื่อมีอายุ 9 ปีขึ้นไปหรือความสูงตั้งแต่ 135เซ็นติเมตรขึ้นไปเท่านั้น มิฉะนั้นเข็มขัดนิรภัยอาจกลายเป็นตัวการทำอันตรายต่อเด็กอย่างรุนแรงได้ ซึ่งระยะเวลา 120 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ไม่ใช่เป็นเพียงเวลาที่ประชาชนต้องเตรียมตัวแต่เป็นเวลาที่รัฐ ชุมชน องค์กร บริษัท หน่วยงานบริการสุขภาพเด็ก หน่วยงานบริการการศึกษาเด็ก ปฐมวัย ต้องเตรียมตัว ต้องมีมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค  กล่าวว่าการเลือกซื้อที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือคาร์ซีท ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและใช้งานได้จริง เหมาะกับน้ำหนักของเด็ก ไม่แนะนำให้ซื้อสินค้ามือสองที่ไม่รู้ที่มาหรือเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่เห็นหรือสัมผัสตัวสินค้า โดยคาร์ซีทตามมาตรฐาน ECE requlation R44.04 มี 5 แบบ ได้แก่ 1. แบบRearward-facing จะวางที่เบาะและติดตั้งให้เด็กหันหน้าเข้าหาเบาะรถ เหมาะกับเด็กน้ำหนัก 0-13 กิโลกรัม

2. Extended rearward-facing คุณลักษณะเหมือนข้อ1 แต่มีฐานสามารถปรับเข้า-ออกได้เหมาะเด็กน้ำหนัก 9-2 กิโลกรัม 3. Forward-facing แบบ convertible ติดตั้งโดยให้เด็กหันหน้าไปทางหน้ารถ ถอดสายรัดออกได้ หรือใช้เข็มขัดเดิมของรถมาใช้ได้ เหมาะกับเด็กน้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม 4. High-back booster แบบหันไปข้างหน้ารถ รูปร่างเหมือนเบาะปกติ แต่จะมีส่วนป้องกันศีรษะ คอและลำตัว ไม่มีเข็มขัดในตัว ใช้เข็มขัดนิรภัยของรถในการคาดเหมาะกับเด็กน้ำหนัก 15-36 กิโลกรัม และ5.Booster cushion เป็นคาร์ซีทที่เหมือนหมอนรองนั่งเสริม เพื่อให้คาดเข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถให้ปลอดภัยมากขึ้น เหมาะกับเด็กน้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม

ทั้งนี้หลังประกาศบังคับใช้ได้ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงทันที มีผลต่อการตัดสินใจและเลือกหาผลิตภัณฑ์มาใช้แบบที่ไม่อยากถูกปรับหรือทำผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เข้าถึงอุปกรณ์ ข้อมูลผลิตภัณฑ์ คุณภาพการใช้งาน กำกับราคาและมาตรฐานให้เข้าถึงมากขึ้น ซึ่ง“คาร์ซีท” สำหรับเด็กเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อความปลอดภัยของเด็กที่ไม่มีสิทธิเลือกความปลอดภัยให้กับตนเอง แตกต่างกับผู้ใหญ่ที่สามารถเลือกความปลอดภัยให้กับตนเองได้ คงไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองหรือครอบครัวใดจะปฏิเสธความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ที่จะเป็นอุปกรณ์ป้องกันและเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กและลูกหลานตนเองเมื่อเจออุบัติเหตุได้    

นางเบญจกร ทุ่งสุกใส  คุณแม่ผู้ประสบอุบัติเหตุเล่าว่า เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ครอบครัวได้ไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.สระบุรี ในรถเดินทางด้วยกัน 3 คน มีตนเองเป็นคนขับ ส่วนพ่อและลูกสาวนั่งเบาะหลัง ซึ่งน้องทาด้าลูกสาววัย 3 ขวบนั่งอยู่บนคาร์ซีทสำหรับเด็ก และได้เกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ชำนาญทางบวกกับถนนกำลังซ่อมแซม พอถึงทางโค้งหักศอก ตนเองตกใจเลยหักเลี้ยวกระทันหัน ทำให้รถไถลไปชนเสาไฟฟ้าข้างทาง  ตอนนั้นตกใจมากเพราะเป็นการขับรถชนครั้งแรกในชีวิต สิ่งแรกที่นึกถึงคือลูกจะปลอดภัยมั้ย

แต่พอหันไปเห็นลูกที่นั่งบนคาร์ซีทไม่เป็นอะไรเลยเพราะมีเข็มขัดยึดตึงไว้  มีเพียงโยกเล็กน้อย ส่วนพ่อเด็กและตัวเองบาดเจ็บเล็กน้อยที่ขาและแขน  เหตุการณ์นี้ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับครอบครัวตนเอง หากวันนั้นไม่มีคาร์ซีทให้ลูกนั่ง ลูกคงกระเด็นออกไปนอกรถแล้ว จึงอยากฝากให้พ่อแม่ที่มีลูกควรต้องมี ต้องซื้อติดรถ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับใครที่ไหนก็ได้  ไม่มีทางรู้ล่วงหน้า อย่าชะล่าใจว่าไม่เป็นไร อย่าประมาท คิดว่าตัวเองขับรถดีไม่ไปชนใคร แต่อาจจะมีคนอื่นมาชนเราแทนก็ได้  และการฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่เล็กสำคัญ จะทำให้คุ้นชิน ช่วยให้ลูกปลอดภัย หากเกิดเหตุจะมีโอกาสรอดสูง  วันนี้ลูกเราอาจจะโชคดีที่ไม่เป็นอะไร แต่วันข้างหน้าหากเกิดอะไรขึ้นอีก แล้วเราไม่ป้องกัน ก็อาจสายไปแล้วก็ได้ ...  

ทั้งนี้ หลังจากการจัดเวทีสาธารณะเสร็จสิ้นลง ทางสำนักสำนักงานเครือข่ายลดอุบติเหตุ(สคอ.) จะเร่งรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้จัดทำเป็นหนังสือนำเสนอไปยังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนต่อไป