จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รวมทั้งโรคภัยต่างๆ และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเกิด ความเครียด ขาดรายได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายและใจในการดำรงชีวิต การปลูกผักปลอดสารพิษ จึงเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสอีกทางหนึ่ง เพื่อการดำรงชีพอย่างปลอดภัยและปกติสุข

รับประทานเช่นไร เป็นเช่นนั้น คือข้อเท็จจริงที่เราทราบกันดี โรคภัยไข้เจ็บในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมี และยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ นอกเหนือจากการตรวจสารปนเปื้อนเพื่อเฝ้าระวังดังกล่าว การขับเคลื่อนเชิงรุกในการส่งเสริมสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ท้าทายว่าทำอย่างไร เราจะก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ ทั้งในเรื่องสุขภาพและการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

เภสัชกรงานคุ้มครองผู้บริโภค (คบส.) กลุ่มงานเวชกรรมสังคม ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ รวมทั้งเภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชน เป็นด่านหน้าที่สัมผัสและใกล้ชิดกับคนในชุมชน เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาต่างๆด้านสุขภาพ รวมทั้งมิติอื่นที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง ซึ่งปัญหาการใช้ยาฆ่าแมลงในผัก/ผลไม้ เป็นปัญหาเรื้อรังสำคัญหนึ่ง ตัวอย่างที่ขอหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังนี้ อาจเปิดมุมมองให้ใครหลายคนได้สัมผัสและจับต้องได้ของโลกอีกใบ ในบทบาทของเภสัชกรงานคุ้มครองฯเพื่อชุมชน

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม (รพ.ร้อยเอ็ด) เป็นตัวอย่างที่ขอกล่าวถึง ในเรื่องการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน โดยเริ่มจากการหาแหล่งปลูกผักปลอดภัย ซึ่งหาได้ยากยิ่งเมื่อ 5 ปีก่อน เพื่อส่งโรงครัวให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้บริโภคอย่างปลอดภัย (Farm to Hospital) ในขณะที่อีกฝั่งทางด้านประชาชนที่ยังไม่เจ็บป่วย น่าจะเป็นการดี หากมีการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคภัย ด้วยการบริโภคผักปลอดภัยเช่นกัน ปัญหาคือ คนปลูกผักปลอดสาร/ปลอดภัยมีน้อย ทำอย่างไรจะเพิ่มจำนวนผู้ปลูกเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของชุมชน

หากจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ จำเป็นต้องรู้ในสิ่งนั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง เภสัชกรงานคุ้มครองฯ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จึงนำร่องปลูกผักปลอดสารพิษ ณ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม (รพ.ร้อยเอ็ด) เพื่อเป็นแบบอย่างให้เจ้าหน้าที่ และคนในชุมชนได้ปลูกผักในครัวเรือนเพื่อบริโภคเอง หรือจำหน่ายในชุมชน โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด และเบริษัทเบทาโกร (จำกัด) มหาชน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งผลลัพธ์จาก

เภสัชกรสู่ชุมชน ริเริ่มแนวคิด “ความหลากหลายในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์ ประชาชนนำไปใช้ได้” 

จากทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ตามแนวทางศาสตร์ของพระราชา ผลลัพธ์ “ก้าว (9) สุขสู่ชุมชน” ด้วย “ผักปลอดสาร อาหารมั่นคง ปลอดภัย"

1. Happy Body (สุขภาพดี)  2. Happy Society (สังคมดี)   3. Happy Family (ครอบครัวดี)    4. Happy Relax (ผ่อนคลาย)   5. Happy Inspiration (แรงบันดาลใจ)  6. Happy Soul (ทางสงบ)  7. Happy Money (ปลอดหนี้)  8. Happy Brain (หาความรู้)    9. Happy Heart (น้ำใจงาม)            
       
                   

ความสำเร็จจากการนำร่องปลูกผักปลอดสารดังกล่าว ต่อยอดสู่แนวคิดการส่งเสริมให้มีต้นแบบเกษตรกรอินทรีย์ดีเด่น อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ในปี 2563 “ร้อยตรีสมใจ สุขธวัช” ปัจจุบันเป็นแหล่งศึกษาดูงาน “ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่” และได้ขยายผลเกิดเครือข่ายในเขตอำเภอเมืองร้อยเอ็ด จำนวน 4 ชุมชน (3 ตำบล) รวม 70 ราย ได้แก่ ชุมชนบ้านหัวหนอง ต.สีแก้ว ชุมชนบ้านเกษตรสำราญ ต.ดงลาน ชุมชนบ้านหนองเขวาและชุมชนบ้านแคน ต.แคนใหญ่  

 

ภายหลังการส่งเสริมเกษตรกรทำดี สู่ช่องทางอินทรีย์ถึงประชาชน “Farm to Table” โดยการขับเคลื่อนร่วมกันจากทุกภาคส่วน อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ด เกษตรอำเภอเมืองร้อยเอ็ด หอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ ปัจจุบันมีตลาดจำหน่ายผักปลอดสารจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ตลาดคุณภาพสวนพยอม ตลาดสุขภาพดี๊ดีเมืองร้อยเอ็ด, ตลาดถนนคนเดินสาเกตนคร และตลาดนัดชุมชน ผลลัพธ์ในการขับเคลื่อน พบว่า ผลตรวจหายาฆ่าแมลงในผักปี 2561-2565 มีความปลอดภัยมากขึ้น ร้อยละ 78.08, 80.15, 88.07, 96.55 และ 97.96 ตามลำดับ เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 25,000-30,000 บาท/คน/เดือน

 

 

ภญ.กัลยาณี อาชาสันติสุข
งานคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลร้อยเอ็ด