กรมอนามัย จับมือภาคีเครือข่าย MOU “ร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก” หนุนแม่มือใหม่ส่งนมข้ามจังหวัด ช่วยลูกไม่พลาดนมแม่

​เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“โครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก” พร้อมด้วย พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธาน มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย คุณชนิดา สมานจิตร ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กรและการตลาด ผู้แทนบริษัท ขนส่ง จำกัด คุณยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ประธานกรรมการบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด คุณธีลฎี พันธุมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผู้แทนบบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และคุณกฤษดา อารัมภวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะส่งเสริม สนับสนุนและปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2568 ทารกร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก

ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะสนับสนุนให้แม่ที่ทำงานต่างจังหวัดสามารถส่งนมแม่ข้ามจังหวัดได้ โดยไม่มีภาระ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้แม่ที่ทำงานนอกบ้าน หรือแม่ที่ทำงานต่างจังหวัดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังคงสามารถให้ลูกได้กินนมแม่ อย่างต่อเนื่องเท่าที่ต้องการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากเป็นการส่งต่อภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติให้ลูกน้อยแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะนมแม่สามารถผลิตได้เองโดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้านเพื่อไปหาซื้อ สามารถให้ลูกกินได้ ทุกที่ ทุกเวลา

 

​นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่า มีทารกไทยเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต รวมทั้งมีทารกเพียงร้อยละ 15 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนในสังคม ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง สนับสนุนและปกป้องให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ตามสิทธิของเด็ก ขณะเดียวกันแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก เนื่องจากมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด และเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กเล็กทุกช่วงวัย นมแม่จึงเปรียบเสมือนวัคซีนในการป้องกันโรค ตั้งแต่หยดแรก เพราะในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันโรค ที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น และยังส่งผลดีต่อพัฒนาการทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ นับตั้งแต่ ปี 2563-2564 ที่เริ่มมีการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการให้บริการขนส่งนมแม่ฟรี มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 3,690 ราย และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้แม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ยังคงสามารถเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ได้ จึงได้จัดโครงการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะสิ้นสุดในปี 2567 เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่งนม และยังช่วยชะลอการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมผงได้อีกด้วย ซึ่งในการลงนามในครั้งนี้ ทางมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้จัดทำคำแนะนำขั้นตอนการเก็บนมแช่แข็ง การบรรจุนมเพื่อขนส่ง รวมทั้งบริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ดำเนินงานแจ้งเส้นทางการขนส่ง จุดรับ – ส่งนมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ และให้ความอนุเคราะห์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทุกเส้นทางที่บริษัทให้บริการ ยกเว้นการให้บริการระหว่างประเทศ และบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ที่ช่วยดำเนินงานดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบ Line@

พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่สนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งน้ำนมฟรี การสนับสนุนให้มีการลาคลอด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 นี้ แม่ที่ฉีดวัคซีนสามารถส่งต่อภูมิคุ้มกันสู่ลูกโดยผ่านน้ำนมได้