ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชนชี้ ลาคลอด 180 วัน ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จี้รัฐส่งเสริมการมีบุตรต้องจัดสวัสดิการ ลงทุนให้ประชาชนมีลูก กรมอนามัยหนุนเพิ่มวันลาคลอด ให้เด็กไทยได้กินนมแม่ครบ 6 เดือน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง สังคมไทยได้อะไร ถ้าผ่านร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยการลาคลอด 180 วัน 

กรมอนามัย หนุนลาคลอด 180 วัน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ครบ 6 เดือน

สำหรับสถานการณ์สิทธิความเป็นมารดาและการดูแลบุตร นพ.สุรัตน์ ผิวสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ รองหัวหน้ากลุ่มอนามัยแม่และเด็ก กองอนามัยมารดาและทารก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการดูแลทารก คือ การกินนมแม่ ซึ่งควรกินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน หรือ 180 วัน การลาคลอด 180 วันจะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่นอกจากเป็นอาหารของทารกแล้ว ยังเป็นยา และภูมิต้านทาน เพราะช่วง 6 เดือน ยังไม่สามารถให้วัคซีนได้หลายตัว ดังนั้น ทารกจะมีภูมิคุ้มกันได้ด้วยนมแม่ ที่ช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ เมื่อทารกไม่ป่วย แม่ก็ไม่ต้องลางาน นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการกิน กอด เล่น เล่า โอบอุ้มลูก ให้มีพัฒนาการที่ดี และยังต้องกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องถึง 2 ปี

"การสำรวจขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF) พบว่า ประเทศไทยมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เมื่อสำรวจย้อนหลังว่า แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรกหรือไม่ ไทยมีเพียง 28.6% น้อยมากในอาเซียน น้อยกว่าพม่า ลาว และมาเลเซีย เพราะแม่ไทยไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว อาจมีให้น้ำด้วย ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ชัดเจนว่า การให้น้ำในทารกต่ำกว่า 6 เดือนนั้นอันตราย ดังนั้น เป้าหมายในตอนนี้อย่างน้อยขอ 50% ให้ได้" นพ.สุรัตน์ กล่าวและว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ เช่น แม่ป่วยด้วยโรคบางอย่างอาจให้นมแม่ไม่ได้ หรือต้องกลับไปทำงาน เพราะปัจจุบันลาคลอดได้ 98 วัน 

ภาคประชาชน จี้รัฐส่งเสริมมีบุตร ต้องลงทุนสวัสดิการ 

ด้าน น.ส.อรุณี ศรีโต ผู้แทนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนลาคลอด 180 วัน กล่าวว่า การเสนอสิทธิลาคลอด 180 วัน เป็นตามหลักสากล ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งปัญหาเด็กเกิดน้อย การส่งเสริมการมีบุตร รัฐต้องจัดสวัสดิการ มีการลงทุน เพื่อให้ประชาชนมีลูก ซึ่งจะลดการนำเข้าแรงงานนานาชาติได้ด้วย

นายกิตติ สุนทรรัฐ นักวิชาการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงบทบาท สสส. กับการสนับสนุนการสร้างเสริมงานด้านสุขภาพ และสุขภาวะในประชากรกลุ่มเฉพาะ ว่า สสส.ทำงานเพื่อให้คนที่อยู่ในแผ่นดินไทยมีสุขภาพดี โดยงานนี้ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายและสนับสนุนงานด้านวิชาการ ผสานความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบให้มีสิทธิลาคลอด 180 วัน โดยหวังว่าเรื่องนี้จะคุ้มครองแรงงานทุกคน นอกจากเรื่องสิทธิลาคลอดแล้ว ยังดำเนินงานด้านสิทธิแรงงาน ทั้งการยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย การทำงานในพื้นที่ และจัดกระบวนการ การสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบท และการสร้างเสริมสุขภาพ

นายเชษฐา มั่นคง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า การลาคลอด 180 วัน ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย ถ้ามองว่า เด็กเกิดน้อย ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญ เพราะข้อมูลชัดเจนว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยมาก เด็กเกิดน้อยจะมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีอย่างครอบคลุม ส่วนนายจ้างจะสู้ไหวหรือไม่ นำเงินที่ไหนมาจ่าย ก็อาจจะมีโมเดลสวัสดิการด้านภาษี ซึ่งต้องติดตามในเชิงรายละเอียด เพื่อช่วยสนับสนุนนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้สามารถลาคลอด 180 วัน 

"ต้องยอมรับว่า มีธงอยู่ว่าจะไปแค่ 120 วัน แต่พวกเราที่อยู่ในห้องประชุมยังยืนยัน 180 วัน ทุกคนต้องช่วยหาทางออกร่วมกัน เพราะ 180 วันดีที่สุด" นายเชษฐา กล่าว