ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงสัมนาวิชาการถกประเด็น "อนาคตประเทศไทยถ้าต้องลาคลอด 180 วัน" ชี้ลาคลอด 180 วันรับค่าจ้างเต็มสามารถเกิดขึ้นได้ โดยกองทุนประกันสังคมไม่ต้องล้มละลาย ด้านกมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เตรียมเสนอเพิ่มเป็น 120 วัน หรือ 180 วัน ก่อนดันเข้าสภาฯ 

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 67 สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนหญิงและเครือข่ายขับเคลื่อนลาคลอด 180 วันฯ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมนาทางวิชาการ "แลไปข้างหน้าลาคลอด 180 วัน และการคุ้มครองลูกจ้างภาครัฐ ประเทศไทยได้อะไร" ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร หวังให้ลูกจ้างหญิงและชายได้สิทธิ์ลาคลอดเพิ่มขึ้น จาก 98 เป็น 180 วัน โดยผ่านการแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ...

โดยมี นายบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิงและผู้รับผิดชอบโครงการ  อาจารย์อนรรฆ พิทักษ์ธานินทร์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเชิงยุทธศาสตร์สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายณัฐชา บุญชัยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร น.ส.วรรณวิภา ไม้สน รองประธานคณะกรรมาธิการ และ รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการบอร์ดประกันสังคม ร่วมด้วย 

นายบัณฑิต กล่าวว่า ภายใต้โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการผลักดันและทำให้คุณภาพชีวิตเรื่องสุขภาวะทางเพศของพี่น้องประชาชนไทย ในเรื่องของการลาคลอด 180 วัน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่คือเรื่องการเกิดน้อยแต่ผู้สูงอายุมีเยอะ ในขณะเดียวกันอนาคตประชากรอาจเกิดมาไม่มีคุณภาพ  วัตถุประสงค์โครงการนี้เพื่อที่จะนำไปสู่ผลักดันกฎหมายลาคลอด 180 วัน ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา และทำให้พี่น้องประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตและ การเพิ่มประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต

ด้านนายณัฐชา กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเสนอวาระสนับสนุนเด็กประถมวัย 0-6 ขวบ 10 ข้อ ซึ่งเรื่องการลาคลอด 180 วันแบบได้รับค่าจ้าง เป็นหนึ่งใน 10 ข้อเสนอที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แม้ที่ผ่านมามีหลายความเห็นและมีข้อโต้แย้งต่างๆว่า สิทธิ์การลาคลอด 180 วันเยอะไปหรือไม่ ถ้ารับค่าจ้างเต็มแล้วจะส่งผลกระทบใดๆกับค่าจ้าง  ซึ่งตนมองว่าอยู่ที่หลักคิดเบื้องต้นถ้ามองว่าเป็นการให้สิทธิ์นี้แก่คนทำงานอาจจะมีความคิดแตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่ถ้ามองว่าสิทธิสวัสดิการนี้คือสิทธิ์แรกเริ่มของประชากรใหม่ของประเทศ นั่นหมายความว่าประชากรคนใหม่ของประเทศที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยได้รับสิทธิ์แห่งความอบอุ่นของครอบครัว นี่คือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่จะได้รับ หลังจากนั้นประชากรที่เกิดใหม่ในประเทศนี้จะโตไปอย่างมีคุณภาพและมีศักยภาพ 

เมื่อวางจุดเริ่มต้นหลักคิดตรงนี้ ความเห็นต่างๆที่ขัดแย้งจะเริ่มทะลายลง เราควรหันมามองว่าเด็กที่เกิดใหม่ในประเทศไทยควรมีสิทธิ์อะไรบ้างในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้เงินคุณแม่ตั้งแต่เดือนที่ 5-9 เดือนละ 3,000 บาท หรือเงินเด็กถ้วนหน้าที่เราต้องการที่จะเสริมสร้างความอบอุ่นและพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งเรื่องของนมแม่ด้วย

อย่างไรก็ตามในฐานะประธาน กมธ. เรื่องสวัสดิการเด็กเล็กจะมีคนเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ มีคำถามว่า ไทยทำไม่ได้เพราะเก็บภาษีไม่เท่าเขา แต่ข้อเท็จจริงที่คณะทำงานไปเยือนประเทศเดนมาร์ก พบว่า สามารถทำได้ผ่านการสร้างความเชื่อมั่น และไว้ใจของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน เรื่องนี้มีความสำคัญจำเป็นอย่างที่สุด ทั้งนโยบาย และงบประมาณ ที่จะต้องลงทุนในเด็กแรกเกิดอย่างครบวงจร

"ถ้าเริ่มต้นด้วยภาษีเท่ากับคุณเริ่มต้นรัฐสวัสดิการผิด เดนมาร์กลาคลอดได้ 480 วันนั้นเกิดจากความเชื่อใจต่อรัฐบาล และเชื่อใจประชาชน อยากบอกว่าเราอย่าไปตกหลุมกับดักนี้ เราเริ่มต้นได้หากมีหลักคิดว่าต้องการดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะงบประมาณในการลงทุนในมนุษย์"  นายณัฐชา กล่าว

ด้าน น.ส.วรรณวิภา ไม้สน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการยื่นเรื่องแก้กฎหมายพรบ.คุ้มครองแรงงานฯ โดยมีการแก้ไขหลายประเด็นไม่ใช่แค่วันลาคลอด 180 วัน อย่างไรก็ตาม ร่างฯ ฉบับดังกล่าวกำลังจะเข้าสู่สภาฯ ในวาระที่ 2 โดยที่ผ่านมาในส่วนของ กมธ. ได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน แต่ยังไม่เข้าสู่เนื้อหาว่าสรุปออกมาในรูปแบบใด แต่คาดว่าอาจจะไม่ทันเสนอเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสมัยนี้

โดยเนื้อหามี 2 ประเด็นคือ 1.การแก้ไขมาตรา 4 ที่เกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ไม่ได้เข้ากับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น กลุ่มจัดซื้อจัดจ้าง เหมาช่วงพนักงานมาบริการ ซึ่งมีพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาชน ในครั้งที่ยังเป็นพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ โดยมีเนื้อหาคล้ายกันบางส่วน  2. เรื่องการลาคลอด ขณะนี้ยังไม่ได้ลงเนื้อหาว่าจะไปในทิศทางไหน และการลาคลอดหากบิดา คู่สมรส ลาได้หรือไม่ และจะรับเงินอย่างไร เรื่องนี้ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

"ในที่ประชุมเราเห็นตรงกันว่าอย่างไรก็ต้องเพิ่มวันลาคลอด เพราะตามหลักสากลและแน้วโน้มทั่วโลกเป็นแบบนั้น และต้องได้ค่าจ้างเต็มด้วย อยู่ที่ว่าจะเป็น 120 หรือ 180 วัน" น.ส.วรรณวิภา กล่าว

ขณะที่ รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า ในการลาคลอด 180 วัน สามารถเกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและองค์กรคือ 1. ความมั่นคงขององค์กร พนักงานมีคุณภาพและความพร้อมในการทำงานที่ดีขึ้นพนักงานวางแผนอยู่กับองค์กรระยะยาวมากขึ้น 2. สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก โดยแสดงถึงการสนับสนุนความเสมอภาคและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นตัวอย่างองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม 3. รักษาพนักงานที่มีคุณภาพ ส่งเสริมความพึงพอใจและความผูกพันต่อองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม 4.ข้อมูลสถิติ จากผู้ประกันตนประมาณ 14 ล้านคน มีการใช้สิทธิ์คลอดบุตรเพียง 237,799 คน ( 1.6% ) การเกิดของเด็กหนึ่งคนไม่เป็นภาระที่มากเกินไปสำหรับนายจ้างและรัฐ

"การลาคลอด 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย โดยกองทุนประกันสังคมไม่ต้องล้มละลาย ข้อเท็จจริงคือ งบประมาณที่ใช้กรณีประกันสังคม กรณี ม.33/39 ลาคลอด 180 วัน จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท จำทำให้เงินกองทุน 4 กรณี ไม่ได้มีสถานการณ์ติดลบแต่อย่างใด และยังคงมีเงินสะสมเพิ่มขึ้นปีละ 80,000-90,000 ล้านบาท" รศ.ษัษฐรัมย์ กล่าว

กรณี ม.40 ข้อเสนอปัจจุบันการลาคลอดเดือนละ 3,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 155 ล้านบาท (ประมาณการคนใช้สิทธิ์ 17,257 คน/ปี) มีผลดีสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนผู้ประกันตนส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ จะดึงดูดให้คนมาเป็นผู้ประกันตนมากขึ้น