เครือข่ายหมออนามัยวิชาการ ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อน แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนยุคโควิดอย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพหมออนามัยรุ่นใหม่ เสริมพลังระบบสุขภาวะชุมชน - ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน

อาจารย์บุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัย หรือ ผู้นำหมออนามัยแนวใหม่ (Mohanamai Academy) ซึ่งตอนนี้ได้มีการดำเนินการมาแล้ว 2 รุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งมีกระบวนการในการคัดเลือกให้หมออนามัยรุ่นใหม่ทุกวิชาชีพทั้งสาธารณสุข พยาบาล แพทย์แผนไทย ทันตาภิบาล ทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพการจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนน การจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” ในการขับเคลื่อนงาน

โดยใช้จุดแข็งของหมออนามัยที่เป็นนักวิชาการของพื้นที่ ใช้ทุนเดิมของหมออนามัยที่เป็นที่รักและศรัทธาของชุมชน รู้จักชุมชน รู้จักพื้นที่ในการพัฒนาระบบสุขภาพและการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ทั้งอุบัติเหตุทางถนน บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากยุทธศาสตร์สำคัญในการจัดการแล้ว เครือข่ายหมออนามัยวิชาการได้ใช้สมรรถนะที่เพิ่มขึ้นด้านงานวิชาการ งานวิจัยและการจัดการความรู้ที่ได้เรียนรู้ผ่านหลักสูตรผู้นำหมออนามัยแนวใหม่ ในการบูรณาการการขับเคลื่อนงานไปสู่การปฏิบัติเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานภาคท้องถิ่น และภาคประชาสังคม สานพลังเครือข่ายในการจัดการปัญหาที่ยากและซับซ้อนให้สำเร็จ อีกทั้งต่อยอด ขยายผล และเสริมพลังความเข้มแข็งในการจัดการเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน อีกส่วนที่ได้เพิ่มเติมก็คือ การพัฒนางานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วยการวิจัยจากงานประจำ ((Routine to Research: R2R) และการสร้างนวัตกรรมทางสุขภาพ

จุดเริ่มของการพัฒนาหมออนามัยแนวใหม่ (Mohanamai Academy) สืบเนื่องจากปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เนื่องจากการทำงานน้องๆ หมออนามัยรุ่นใหม่การบรรจุเป็นข้าราชการมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง ความมั่นคงในการทำงานอาจจะไม่มากเท่ารุ่นเดิมๆ โอกาสในการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ข้ามเขตพื้นที่มีข้อจำกัด ด้วยเหตุผลของการเป็นลูกจ้าง แต่มองว่าน้องๆ หมออนามัยรุ่นใหม่มีศักยภาพ และความรู้มาก น่าจะเป็นพลังที่มีค่ายิ่งในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นทิศทางในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย การพัฒนาศักยภาพการทำงานเชิงเครือข่ายข้ามเขตพื้นที่จะมีขีดจำกัด จึงน่าจะช่วยเสริมพลังของเครือข่ายหมออนามัยในปัจจุบันในการทำงานอย่างมีความสุข

จากกระบวนการพัฒนาศักยภาพและสานพลังเครือข่ายหมออนามัยแนวใหม่ ทำให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพโดยหมออนามัยรุ่นใหม่ มีศักยภาพที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคศตวรรษที่ 21 มีทักษะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ เป็นผู้ประสาน และร่วมในการจัดการพัฒนาเชิงพื้นที่ สามารถเชื่อมต่อและหนุนเสริมระบบและกลไกให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น ศูนย์อำนวยการเพื่อความปลอดภัยทางถนนระดับตำบลและอำเภอ คณะกรรมการพัฒนาชีวิตระดับตำบล (พชต.) และคณะกรรมการพัฒนาชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นต้น

อาจารย์บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับ การขับเคลื่อนของเรื่องอุบัติเหตุบนทางถนนนั้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามต่อสุขภาพของคนไทย โดยอยู่อันดับต้นๆ ในการป่วยหรือการเสียชีวิตด้วย โดยหลังจากที่เราได้มีการเปิดรับสมัคร หมออนามัยทั่วประเทศแล้ว จะเข้าหลักสูตรกระบวนการในการพัฒนาตั้งแต่รู้คิด รู้ตนเอง เรียนรู้เครื่องมือการจัดการอุบัติเหตุทางถนน การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การถอดบทเรียน ติดเติมอาวุธทางปัญญาเพื่อการทำงานเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนั้น ยังมีการเรียนรู้ข้ามเขตข้ามเครือข่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการขับเคลื่อนในระดับชุมชน ทั้งนี้ การทำงานในเครือข่ายหมออนามัย ทำงานร่วมกับเครือข่ายโดยเชื่อมประสานการทำงานในเชิงพื้นที่ เช่น ผู้นำชุมชน ตำรวจ อบต. อสม. ครู รวมทั้งคนในชุมชน เป็นต้น เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ และร่วมติดตามประเมินผลด้วย

ทั้งนี้ โจทย์การจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและขับเคลื่อนตำบลปลอดภัย ทางโครงการได้สนับสนุนงบจาก สสส. ส่วนหนึ่งแล้วไปบูรณาการกับงบจากกองทุนสุขภาพพื้นที่ หรือทุนที่มีอยู่ในชุมชน บทเรียนการดำเนินการที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการจัดการอุบัติเหตุทางถนนในชุมชน เกิดการพัฒนาคุณภาพและสร้างความเข้มแข็งของกลไกลในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ บางพื้นที่นำไปสู่ในเรื่องของมาตรการในชุมชน เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในชุมชนเกิดการจัดการตนเองในชุมชน ซึ่งสอดคล้องตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ขับเคลื่อนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) การจัดการที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผลงานการจัดการอุบัติเหตุทางถนนที่ดี เช่น การประเมิน DRTI Plus

นอกจากนี้ ผลที่เกิดขึ้น คือ การนำเสนอผลงานด้านวิชาการทั้งนี้ทำให้หมออนามัยได้งานด้านวิชาการการวิจัยการจัดการความรู้เพื่อพัฒนางานในระดับพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอนโยบายที่จะขับเคลื่อนต่อในการขับเคลื่อนผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. ที่เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งทำให้เห็นบทบาทชัดเจนขึ้น เราได้เห็นพื้นที่รูปธรรมที่หลากหลาย ของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

ส่วนในเรื่องของเครือข่ายที่มาร่วมในการสนับสนุนและส่งเสริมการขับเคลื่อนทั้งระดับเครือข่าย และการขับเคลื่อนงาน เช่น ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (สวปถ.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิหรือ (สสป.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ จะเป็นส่วนช่วยเสริมพลัง สานพลังการทำงาน และเอื้อทั้งอำนาจและโอกาสในการขับเคลื่อนที่ทรงพลังยิ่ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สสส.-หมออนามัย ถอดบทเรียนแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในวิกฤตโควิด

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org