ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 8 ซึ่งว่าด้วยการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Decent Work And Economic Growth) ในโลกยุคปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกทางเศรษฐกิจ และการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ลำพังแรงงานของคนหนุ่มสาวอาจไม่เพียงพอต่อการทำให้เศรษฐกิจชาติเกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 พบกุญแจสำคัญในการตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคสูงวัย คือ การเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงวัยด้วยกันเองได้มีโอกาสลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ

อาจารย์ ดร.สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการและกลยุทธ์ (Management and Strategy) และสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร (Food Business Management) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวในฐานะหัวหน้าทีมผู้สอนรายวิชาอบรมออนไลน์ "ผู้ประกอบการและนวัตกรรมสำหรับธุรกิจผู้สูงวัย" (Entrepreneurship And Innovation For Aging Business) ทางระบบ MUx ของมหาวิทยาลัยมหิดล ว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักบริหารและผู้ประกอบการที่มุ่งหวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะพยายามส่งเสริมให้มีทักษะการเป็นนักบริหารและผู้ประกอบการที่มีมุมมองที่มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจแบบยั่งยืน และส่งผลดีต่อสังคมและชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการพึ่งพาตนเองเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค Next Normal ที่เปลี่ยนแปลง และการที่นับวันยิ่งมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงวัยมากขึ้น จึงไม่อาจมองข้ามการขยายตลาดแรงงานสู่กลุ่มประชากรผู้สูงวัย ซึ่งการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยได้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการจะเป็นการตอบโจทย์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงวัยด้วยกันเองได้ดีที่สุด โดยปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการ คือ การที่จะต้องทำธุรกิจที่ต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Build Data-Driven Culture) "รู้เขา" "รู้เรา" และ "เข้าใจตลาด" อย่างแท้จริง

โดยจะต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยมีแนวโน้มการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง "รู้เขา" คือ จะต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายว่า เป็นผู้สูงวัยที่มีการใช้ชีวิต (Life Style) อยู่ในกลุ่มใด ซึ่งปัจจุบันพบโดยทั่วไปใน 3 แบบแบ่งตามลักษณะทางสังคมและสุขภาวะ คือ ผู้สูงวัยแบบ "ติดบ้าน" "ติดเตียง" และ "ติดสังคม" แล้วให้มาพิจารณา "รู้เรา" หรือปัจจัยความพร้อมทางเศรษฐกิจ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของตัวผู้ประกอบการเอง รวมทั้งจะต้อง "เข้าใจตลาด" โดยศึกษาได้จากแนวโน้มความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งแนวโน้มการประกอบการ หรือธุรกิจที่น่าจับตาของผู้สูงวัยในปัจจุบัน ได้แก่ การประกอบการ หรือธุรกิจที่มีความเฉพาะด้าน อาทิ ด้านอาหาร ด้านที่อยู่อาศัย และด้านสุขภาวะ นอกจากนี้ ยังมีการประกอบการ หรือธุรกิจที่น่าสนใจรองลงมา อาทิ ด้านการท่องเที่ยว และด้านการเงิน ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นโสด และพักอาศัยอยู่คนเดียว ดังนั้นรูปแบบในการอยู่อาศัยจึงเปลี่ยนไปจากเดิม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

เพื่อการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการสำหรับธุรกิจผู้สูงวัยที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่าย และเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบการในโลกยุคปัจจุบันอยู่เสมอ โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดอบรมออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีพ และประกอบวิชาชีพที่ทันสมัยในระบบ MUx ซึ่งได้เปิดกว้างให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมออนไลน์พร้อมรับประกาศนียบัตรได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทาง https://mux.mahidol.ac.th/

 

 

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) 

ภาพประกอบออกแบบโดย วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ 

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210