คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เตรียมออกรายละเอียดการจัดบริการฉีดวัคซีนโควิด รพ.สต. -นอกสถานที่-หรือจัดทีมฉีดที่บ้าน ขอพื้นที่ติดตามใกล้ชิด ขณะที่สถานการณ์ฉีดวัคซีนทั่วไทยถึง 14 ส.ค. สะสมแล้วกว่า 23 ล้านโดส แยกตามยี่ห้อ “ซิโนแวค”มากสุด รองมา “แอสตร้าฯ-ซิโนฟาร์ม” ส่วนไฟเซอร์เพิ่มเข้ามาฉีดแล้ว 361,646 ราย
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 ส.ค. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร.) แถลงสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดผ่านระบบออนไลน์ ว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทย ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ถึงวันที่ 14 ส.ค.2564 เวลา 18.00 น. มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 23,476,869 โดส หากแยกรายละเอียดเข็มที่ 1 จำนวน 17,879,206 ราย หรือคิดเป็น 24.8% ส่วนคนที่ฉีดครบ 2 เข็มอยู่ที่ 5,073,672 ราย หรือ 7% หากแยกตามยี่ห้อแบ่งเป็นซิโนแวค 11,139,873 ราย แอสตร้าเซนเนก้า 10,080,141 ราย ซิโนฟาร์ม 1,895,209 ราย และไฟเซอร์ ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ที่ 361,646 ราย
ขณะที่ตัวเลขกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีน เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข็มที่ 1 ครอบคลุม 852,518 ราย เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 975,590 ราย อสม. 562,023 ราย ส่วนผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคอยู่ที่ 1,975,315 ราย ประชาชนทั่วไป 9,752,518 ราย ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 3,751,446 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 9,796 ราย
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนในอาเซียนรวมแล้ว 203,421,969 โดส โดยอินโดนิเซีย มีประชากรมากที่สุดมีการฉีดมากสุดถึง 82 ล้านโดส คิดเป็นเข็มที่ 1 ครอบคลุม 19.6% รองลงมามาเลเซียฉีดไปกว่า 26 ล้านโดส ซึ่งมีประชากรน้อยกว่าไทย คิดเป็นการครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ 51.1% ขณะที่ฟิลิปปินส์ฉีดไปกว่า 26 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ 12.7% ส่วนประเทศไทยฉีดไปกว่า 23 ล้านโดส คิดเป็นเข็มที่ 1 ครอบคลุม 26.7
ส่วน 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิดมากที่สุด ได้แก่ 1.จีน ฉีดวัคซีนแล้ว 1,832.45 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 65.4% 2.อินเดียฉีด 529.58 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 19.4% 3.สหรัฐอเมริกา ฉีดแล้ว 354.78 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 55.5% 4.บราซิล ฉีด 160.06 ล้านโดส ครอบคลุม 39.1% 5.ญี่ปุ่น ฉีดแล้ว 108.18 ล้านโดส ครอบคลุม 42.9% 6.เยอรมนี ฉีด 96.85 ล้านโดส ครอบคลุม 58.3% 7. สหราชอาณาจักร 87.42 ล้านโดส ครอบคลุม 65.4% 8.ตุรกี ฉีด 82.77 ล้านโดส ครอบคลุม 49.8% 9. อินโดนิเซีย ฉีด 82.22 ล้านโดส ครอบคลุม 19.6% และ 10. ฝรั่งเศส ฉีด 80.56 ล้านโดส ครอบคลุม 62.1%
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) สืบเนื่องจากมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2564 โดยระบุว่า การฉีดลักษณะนี้ทำให้การฉีดวัคซีนรวดเร็วและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และจากการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาก็พบว่าช่วยลดการป่วยหนัก เสียชีวิตได้ ซึ่งการฉีดที่ รพ.สต. จะอยู่ใกล้บ้าน และประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งคณะกรรมการโรคติตต่อจังหวัดจะมีรายละเอียดข้อแนะนำตามมาอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการฉีดนอกสถานพยาบาล ในการจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ไปฉีด ณ จุดบริการที่คนเข้าถึงได้ง่าย เช่น วัด โรงเรียน หรืออาคารเอนกประสงค์ หรือตามบ้าน รพ Mobile ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อม เครื่องมือ อุปกรณ์กู้ชีพ
“สำหรับทีมบุคลากรที่ไปฉีดวัคซีนนอกสถานบริการ หรือ รพ.สต. ก็จะมีทางการแพทย์พิจารณาตามดุลยพินิจว่าจะจัดบริการอย่างไรให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ฉีดขึ้นกับนโยบาย กลุ่มอายุ โรคเรื้อรังที่การรักษายังไม่คงที่ต้องผ่านการวินิจฉัยของแพทย์ก่อน” นพ.เฉวตสรร และว่า ส่วนการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ ขอเน้นย้ำว่า มีการกำหนดตามกลุ่มเป้าหมาย และไม่มีการสูญหาย ไม่มีการฉีดให้แก่กลุ่มวีไอพี ซึ่งหากประชาชนหากเห็นจุดใดสงสัย สามารถรายงานมาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางกระทรวงฯ ย้ำว่า กลุ่มที่จะได้รับไฟเซอร์ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรัง คนท้อง เป็นต้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : โควิดเสียชีวิตยังพบกลุ่มเสี่ยง “ผู้สูงวัย-โรคเรื้อรัง-คนท้อง” ส่วนผู้ป่วยอาการหนักยังสูง 5,615 ราย)
- 29 views