รมว.ชลน่าน เผยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างพิจารณาและออกแถลงการณ์ข้อเท็จจริง กรณีหมอจุฬา แพร่ข่าววัคซีน mRNA ทำเลือดเกิด White Clot ด้าน ศูนย์จีโนมรามาฯ ย้ำพบได้ทั่วไปในศพ

 

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก  กรณีพบแท่งย้วยสีขาว คล้ายหนวดปลาหมึก ในคนที่ฉีดวัคซีนโควิด mRNA หรือเรียกว่า "White Clot" ว่า ขณะนี้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างรอบคอบและจะมีการออกแถลงการณ์อย่างชัดเจนทางด้านวิชาการต่อเรื่องนี้ ส่วนที่มีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ตอนนี้ ก็มีผู้เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ออกมาให้ความเห็นพอสมควร  เช่น สถาบันนิติเวช ศูนย์จีโนม รพ.รามาธิบดี ข้อมูลก็ปรากฏชัด

 

เมื่อถามว่า ได้รับรายงานหรือไม่ว่า ขณะนี้ไทยมีสต็อควัคซีนป้องกันโควิด เหลือเท่าไหร่ นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับสต็อควัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของไทยตอนนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่า เหลือกี่โดส แต่ตอนนี้กำลังดูรายละเอียดว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเกี่ยวกับสัญญาที่มีอยู่ตอนนี้

ด้านศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ “Center for Medical Genomics” ระบุว่า การพบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดของศพมีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่มีวิดีโอยูทูปที่ชื่อ "เสียชีวิตกะทันหัน 2022 (died suddenly 2022) " เผยแพร่สะพัดบนโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2565 หรือ 2 ปีที่แล้วโดยอ้างว่าพบลิ่มเลือดหลังการชันสูตรศพเป็นหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นว่าฝ่ายหนึ่งมีแผนลดจำนวนประชากรโลกโดยใช้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีนี้วิดีโอดังกล่าวนำเสนอว่า มีผู้ฉีดยารักษาศพและผู้อำนวยการงานศพจำนวนหนึ่งเปิดเผยว่าพบลิ่มเลือดขนาดใหญ่ในศพถือเป็นความผิดปกติที่ไม่เคยพบมาก่อน และคาดว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้หักล้างคำกล่าวอ้างเหล่านี้ โดยระบุว่าลิ่มเลือดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นลิ่มเลือดที่พบบ่อยหลังการชันสูตรพลิกศพ

 

สมาคมผู้อำนวยการงานศพแห่งชาติ(สหรัฐ) เน้นย้ำว่าผู้เชี่ยวชาญด้านงานศพและฉีดยารักษาศพไม่มีคุณสมบัติที่จะสรุปผลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดและลิ่มเลือด วิดีโอดังกล่าวยังรวมถึงฟุตเทจที่นำมาจากวิดีโอการศึกษาทางการแพทย์ที่โพสต์บน YouTube ในเดือนเมษายน 2019 ซึ่งแสดงให้เห็นขั้นตอนที่เรียกว่าการผ่าตัดเอาหลอดเลือดอุดตันในปอด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใด

องค์กรอิสสระ FactCheck ได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้วพบว่า “เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (fake news)” ทั้งนี้ FactCheck เป็นองค์ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและไม่แสวงหากำไรมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดระดับหรือผลกระทบของการหลอกลวงและการสร้างความสับสนทางการเมืองในสหรัฐฯ Factcheck ตรวจสอบความถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่กล่าวโดยบรรดานักการเมือง หรืออินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในสหรัฐ ในรูปแบบของโฆษณาทางทีวี การโต้วาที การกล่าวสุนทรพจน์ การสัมภาษณ์ และการเผยแพร่ข่าว เป้าหมายของ Factcheck คือเพิ่มความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนชาวอเมริกัน

( ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอธีระวัฒน์” พร้อมเลิกพูด white clot แต่ยังให้ความสำคัญผลกระทบวัคซีนโควิด)

ล่าสุดนายทหารสหรัฐนอกราชการ Thomas Haviland ได้นำเสนอข้อมูลลักษณะดังกล่าวอีกครั้ง โดยการจัดทำโพล์ที่ไม่แสดงแหล่งอ้างอิง สอบถามไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการฉีดยารักษาศพ และส่งข้อมูลที่สรุปได้ไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขในสหรัฐ กล่าวคือ US NIH, US CDC ให้พิจารณาถึงความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19  รวมทั้งให้สัมภาษณ์ในรายการของ Dr. John Cambell  อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของอังกฤษในด้านสุขภาพ มียอดผู้เข้าชมถึง 1,462,545 ครั้ง ตั้งแต่ 8 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับในไทยหากประสงค์จะตรวจสอบการเกิดลิ่มเลือดขนาดใหญ่ในหลอดเลือดจากศพในช่วงเวลาที่ผ่านมาสามารถทำโพล์สอบถามผู้ที่มีหน้าที่ฉีดยารักษาศพได้เช่นกัน โดยอาจพิจารณาสอบถามว่า ก่อนปี 2019/2562  พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (ยังไม่เกิดการระบาดของโควิด-19) ปี 2020/2563  พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (ไวรัสอู่ฮั่นและไวรัสอัลฟา ระบาด ยังไม่มีวัคซีนใช้) ปี 2021-2022 /2564-2565 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (มีการระดมวัคซีนโควิด-19 มีผู้เข้ารับการฉีดถึง 80%) ปี 2023/2024  พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดลง) หากพบมีมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับปี 2021-2022