แพทย์จุฬาฯ ชี้งานวิจัยสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นข้อมูลพื้นฐานไปพัฒนานวัตกรรม ใช้ป้องกัน รักษาโรค ทำให้สุขภาพดีขึ้น ยกตัวอย่างวัคซีนโควิด ผลวิจัยชี้ฉีดแบบสลับผลลัพธ์ไม่ต่าง mRNA เป็นเข็มกระตุ้นดีกว่า ย้ำ! ทุกวัคซีนมีผลข้างเคียง ฉีดในภาวะฉุกเฉินเหมาะสมแล้ว คนเสียชีวิตมากขึ้นหลังโควิดไม่ได้เกิดจากวัคซีนอย่างเดียว
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “คุณค่างานวิจัยในการพลิกโฉมระบบสุขภาพ” ในการประชุมวิชาการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2567 “ร่วมพลิกระบบสุขภาพไทย ด้วยงานวิจัยคุณภาพ” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม.
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานวิจัยมาแล้ว 40 ปี สายการแพทย์หลายคนบอกว่า ทำแล้วได้กลับมากี่บาทกี่สตางค์ บอกเลยว่ายาก ทำเสร็จแล้วหลายคนบอกว่า ขึ้นหิ้ง ตนคิดว่า ถ้าไม่มีของบนหิ้งก็ไม่เป็นห้าง
งานวิจัยสายวิทยาศาสตร์การแพทย์
- งานวิจัยทำเป็นข้อมูลพื้นฐานไปพัฒนานวัตกรรม
- ใช้ในการป้องกัน รักษาโรค ทำให้สุขภาพดีขึ้น
- ใช้วางแผน แนวทาง (Guideline) ต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วย
- ปรับเปลี่ยนนโยบายระดับชาติ
"สิ่งที่ผมทำยาวนานที่สุด คือ การศึกษาไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี อี สมัยก่อนบอกกันว่า รักษาไม่ได้ จนมาตอนนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้มีแผนการขจัดไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 หรือปี 2030 WHO รับนโยบายมาในปี 2016 ประเทศไทยก็รับมาว่าจะทำให้เหลือน้อยที่สุด ผมก็ทำให้เห็นเป็นโมเดล พยายามลดเคสใหม่ให้ได้ 90% ตั้งเป้าว่า 2030 อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับจะต้องลดลงอย่างน้อย 65%" ศ.นพ.ยง กล่าว
เช่นกรณีการประชุมนานาชาติปี 1987 มีการบรรยายว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งระบาดของไวรัสตับ อี กลับมาจากการประชุมจึงทำการศึกษาในหลายจังหวัด พบว่า ความชุกของไวรัสตับ อี ไม่มี ถ้าไม่มีการศึกษาวิจัยออกไปโต้ก็ยังมีความเชื่อแบบเดิม จากนั้นเริ่มมีผู้ป่วยมีประวัติการกินหมูกระทะ จึงคาดว่า หมูน่าจะเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของไวรัสตับ อี ในประเทศไทย และได้ตรวจพบไวรัสในผู้ป่วยคนไทย มีความคล้ายคลึงกับไวรัสที่พบในหมู ต่อมาพบผู้ป่วยหลายรายแม้ไม่มีประวัติรับประทานหรือสัมผัสกับเนื้อหมูสด มีผู้ที่เปลี่ยนตับ นอนโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ติดไวรัสตับ อี พบอีกว่า น่าจะติดได้จากการรับเลือด
"ธนาคารเลือดในปัจจุบันสามารถแจ้งได้เลย มีการตรวจกรอง HEV-RNA สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น ภูมิต้านทานต่ำ ปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อให้คนไทยปลอดไวรัสตับอักเสบ อี".
วัคซีนโควิด ฉีดแบบสลับผลลัพธ์ไม่ต่าง mRNA เป็นเข็มกระตุ้นดีกว่า
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ตอนแรกไม่มีใครเชื่อเรื่องโควิด เพราะเป็นของใหม่ เรียนรู้พร้อมกัน โดยองค์ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด เป็นของใหม่ ผ่านการศึกษาอย่างเร่งรีบ เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในตอนนั้นวัคซีนไม่พอจนต้องฉีดแบบสลับ วัคซีนเชื้อตายคนไม่ยอมฉีด ต้องวัคซีน mRNA เท่านั้น
"การฉีดแบบสลับ วัคซีนเชื้อตายจะเป็นตัว Prime ที่ดี หลังจากนั้น WHO ก็ใช้เอกสารอ้างอิงของเราถึง 5 References ไปเขียนเป็น Interim Recommendations ให้ทั่วโลกรับรู้ว่า วัคซีนโควิดสามารถฉีดสลับได้ จากนั้นก็ตีพิมพ์งานวิจัยออกมาเรื่อย ๆ ก็บอกว่าวัคซีน mRNA ไม่ต้องรีบหรอก ใช้ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นน่าจะดีกว่า จะเห็นได้ว่า ฉีดสูตรไหนมา การมาบูซด้วยวัคซีน mRNA สุดท้ายไม่ต่างกัน และเราก็มีการตีพิมพ์งานวิจัยออกมา" ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง ยืนยันด้วยว่า วัคซีนนั้นมีประโยชน์ แต่ก็มีผลข้างเคียง วัคซีนโควิดไม่ว่ายี่ห้อไหน หนึ่งในแสน หนึ่งในล้าน เกิดขึ้นได้ แต่การฉีดแล้วป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า ก็ต้องเอาในภาวะฉุกเฉิน การใช้วัคซีนในช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ถ้าวันนี้จะฉีดวัคซีน mRNA ก็ไม่มีคนฉีด เพราะในตอนนี้ความรุนแรงของโรคน้อยลง
ในช่วงวิกฤตโควิดการเสียชีวิตน้อยลง อุบัติเหตุน้อยลง โรคติดเชื้อต่าง ๆ เกือบทุกชนิดที่ทำการศึกษานั้นลดน้อยลง เช่น ไข้หวัดใหญ่ อาร์เอสวี หรือปอดบวม แต่หลังจากโควิดที่ทำให้คนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะช่วงโควิดคนลดความเสี่ยง อยู่บ้าน แต่หลังจากผ่อนคลาย สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ก็มีหนี้อยู่เก่าต้องมาชดใช้นี้ (Immunity Debt) เมื่อมาชดเชย มีการติดเชื้อมากขึ้น โรคติดเชื้อทำให้เสียชีวิตมากขึ้น มาชดเชยช่วงที่กักตัว ไม่ใช่เสียชีวิตมากขึ้นจากวัคซีนอย่างเดียว เมื่อเพิ่มขึ้นแล้ว ในปีต่อ ๆ ไปก็จะกลับสู่ภาวะปกติ
ศ.นพ.ยง ทิ้งท้ายว่า ตัวอย่างงานวิจัยที่ยกให้ดูสั้น ๆ สิ่งสำคัญ คือ การทำอย่างต่อเนื่องจึงจะประสบความสำเร็จและนำไปใช้ประโยชน์ได้
- 99 views