ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ทวงถามรัฐบาล “ค่าเสี่ยงภัยโควิด” ล่าช้า ต้องรับผิดชอบหรือไม่  เหตุผู้จัดสรรงบประมาณไม่เห็นความสำคัญคนทำงาน ฝาก รมว.สธ.ลงพื้นที่สัมผัสหน้างาน ให้รู้สถานการณ์ที่แท้จริง ขาดแคลนทั้งเงิน บุคลากร 

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวกับสำนักข่าว Hfocus ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางจำนวน 3,849.30 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 โดยกล่าวว่า ผู้ที่เป็นแพทย์ พยาบาล ส่วนใหญ่ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดเกือบหมดแล้ว แต่กลุ่มนอกเหนือจากนี้ รอคอยเงินตรงนี้มานาน ตนมองว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นสายงานที่ต้องเจอกับความเสี่ยงมาตลอด ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงโควิด แต่ก่อนหน้านั้นก็มีสถานการณ์ วัณโรคดื้อยา แต่ด้วยตัวงานถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงที่คนทำงานต้องแบกรับ จึงอยากให้กลับไปมองพื้นฐานคำว่า ค่าเสี่ยงภัย ไม่อยากให้เป็นแค่ช่วงที่เกิดโรคอุบัติใหม่ 

"คำว่า ค่าเสี่ยงภัย เมื่อตีความแคบจะทำให้บุคลากรหลายคนที่ไม่ใช่บุคลากรวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน หรือแม่บ้าน ก็ไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย เพราะรูปแบบการจ้างที่ไม่เหมือนกัน ทั้งที่ทุกคนก็เจอความเสี่ยง แต่ถูกมองข้ามไป และการเสี่ยงภัยไม่อยากให้มองว่า เป็นช่วงวิกฤตหรือสถานการณ์ของโรคอย่างเดียว เพราะทุกงานตอนนี้ก็มีความเสี่ยง" พญ.ชุตินาถ และว่า 

สำหรับค่าเสี่ยงภัยโควิดในตอนนี้ กว่าที่ทุกคนจะได้รับก็ผ่านเวลามานาน ไม่มีการเยียวยา และควรจะคุยถึงขั้นว่า การให้ค่าเสี่ยงภัยช้าขนาดนี้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ต้องตั้งคำถามถึงการจัดการของระบบราชการด้วย เพราะคนทำงานต้องตามเรื่องเองมาตลอด จนปัจจุบันโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ส่วนวิธีการเบิกค่าเสี่ยงภัยก็มีความซับซ้อน ไม่ได้ถูกดีไซน์มาเพื่อช่วยเหลือคนหน้างาน เอกสารก็ส่งมาอย่างกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถจัดเตรียมข้อมูลได้อย่างครบถ้วน เรื่องนี้เป็นการสะท้อนถึง ความสำคัญของคนทำงานในสายตาของผู้จัดการเรื่องงบประมาณทั้งหมด ความสำคัญของคนทำงานนั้นไม่มากพอ 

"สิ่งที่อยากฝาก รมว.สธ. คือ การจัดสรรปัญหาทรัพยากร ไม่ว่าเรื่องเงิน หรือบุคลากรต่าง ๆ มาเป็นข้อจำกัดสำหรับการให้บริการสุขภาพประชาชน ตอนนี้พอทุกอย่างขาดแคลน หน้างานต้องปะทะกับคนไข้เอง ทั้งที่โรงพยาบาลก็ทำงานเต็มศักยภาพแล้ว อยากให้ลงมาสัมผัสหน้างานมากกว่านี้ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร" พญ.ชุตินาถ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

- ตัวแทนลูกจ้าง ขอบคุณ รมว.สธ.ติดตามจนได้ค่าเสี่ยงภัยโควิด หลังรอมาร่วม 2 ปี

- ครม.เคาะงบกลางจ่าย 'ค่าเสี่ยงภัยโควิด' รอบสอง 3.8 พันล้านให้บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข

- “สมศักดิ์” เผยขั้นตอนจากนี้ หลังครม.ไฟเขียว “ค่าเสี่ยงภัยโควิด” รวมค่าฉีดวัคซีนกว่า 3.8 พันล้าน

- “สมศักดิ์” ย้ำสสจ.ต้องเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด ภายใน 30 ก.ย.นี้