สธ.ติดตามอาการไม่พึงประสงค์บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เฝ้าระวังอาการ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ - เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ” หลังสหรัฐพบในผู้ชายอายุน้อย ส่วนของไทยยังไม่มีรายงาน แต่ติดตามอย่างเข้มงวดในกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปีประมาณ 60% ส่วนเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปฉีดไฟเซอร์ได้เฉพาะป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคเท่านั้น ยังไม่ให้กลุ่มเด็กทั่วไป
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 8 ส.ค. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงรายงานการเฝ้าระวังภาวะไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน mRNA ว่า เกี่ยวกับการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีน mRNA ขณะนี้เป็นข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งไทยยังไม่มี เนื่องจากเพิ่งฉีดวัคซีนกลุ่มนี้ไม่นานนัก โดยข้อมูลมาจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา หรือ US CDC เป็นการรายงานการเฝ้าระวังภาวะไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน mRNA ในกลุ่มอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ(Pericarditis) ซึ่งในประเทศสหรัฐ เป็นการฉีดทั้งวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา แต่ส่วนใหญ่ฉีดไฟเซอร์มากกว่า
“สหรัฐได้ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และได้มีการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งโดยพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ข้อมูลนี้น่าสนใจ ซึ่งได้สอบถามข้อมูลจากที่สหรัฐพบว่า ตอนทำวิจัยไม่เจอ แต่มาเจอตอนฉีดภายหลัง เหมือนกับตอนวิจัยในแอสตร้าฯ ช่วงทำวิจัยไม่เจอ แต่มาใช้จริงถึงพบ แสดงว่าเป็นภาวะไม่พึงประสงค์ที่พบน้อยมาก” นพ.โสภณ กล่าว
00 รายงานอาการไม่พึงประสงค์วัคซีน mRNA ในสหรัฐ ของไทยยังไม่พบ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จากการติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พบภาวะไม่พึงประสงค์ดังกล่าวในผู้รับวัคซีนอายุน้อยกว่า 30 ปี และมักพบหลังฉีดเข็มที่ 2 โดยพบมากคือ อายุ 16-20 ปี หรือวัยรุ่นตอนปลาย โดยมีรายงานในสหรัฐ 1,226 รายจากวัคซีนmRNA จำนวน 300 ล้านโดส หรือประมาณ 4 รายต่อล้านคน ส่วนใหญ่มีอาการภายใน 5 วันหลังฉีด โดยอาการมีทั้งเจ็บหน้าอก หายใจไม่ค่อยสะดวก ใจสั่น แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวแม้ไม่ฉีดวัคซีนก็พบได้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าหลังฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเข็ม 2 ในคนอายุน้อยจะเจอมากกว่าปกติ อย่างผู้หญิงอายุ 12 -17 ปี เจอ 19 รายจากการคาดการณ์ไม่ควรเกิน 2 ราย มากกว่า 10 เท่า ส่วนอายุ 18-24 ปี เจอ 23 ราย จากที่คาดว่าไม่ควรเจอเกิน 6 ราย มากกว่าที่คาด 4 เท่า และอายุ 25-29 ปี เจอ 7 รายจากการคาดการณ์ไม่ควรเกิน 5 ราย แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้ชายเจอมากกว่า 30 เท่า อย่างไม่ควรเจอเกิน 4 รายแต่กลับเจอถึง 128 รายในกลุ่มอายุ 12-17 ปี ส่วนอายุ 18-24 ปี ไม่ควรเจอเกิน 8 ราย แต่กลับเจอถึง 219 ราย ส่วนอายุ25-29 ปี ไม่ควรเจอเกิน 7 ราย แต่กลับเจอ 59 ราย เป็นต้น พูดง่ายๆ ผู้ชายเจอมากกว่าผู้หญิง โดยติดตามอาการหลังฉีด 7 วัน และเน้นการติดตามในโดสที่ 2 ซึ่งฉีดห่างกันจากเข็มแรก 3 สัปดาห์
“ทั้งหมดเป็นข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ในส่วนของไทยยังไม่พบ แต่ขณะนี้มีการเก็บข้อมูลของไฟเซอร์ ซึ่งเพิ่งเก็บข้อมูลไปได้ 4 วัน จำเป็นต้องติดตามต่อเนื่อง” นพ.โสภณ กล่าว
00ย้ำ! วัคซีนไฟเซอร์ยังไม่ฉีดให้เด็กทั่วไป ยกเว้นกลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปของไทยมีเกณฑ์อย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับเด็กจะฉีดเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค เช่น โรคหัวใจโรคไต โรคอ้วน เบาหวาน มะเร็งที่รักษาอยู่ เป็นต้น ซึ่งต้องประเมินเด็กก่อนว่าอยู่ในภาวะพร้อมฉีดวัคซีนหรือไม่ หลังจากนั้นก็ติดตามเหมือนกัน ทั้งฉีดเข็มแรก และเข็ม 2 ติดตามหลังฉีด 30 นาที และ 1 วัน จากนั้นก็ 7 วัน ส่วนใหญ่จะมีอาการใน 7 วัน โดยติดตามถึง 30 วัน สำหรับระบบเฝ้าระวังเรามีอยู่แล้ว รายงานด้วยตัวเองผ่านหมอพร้อม ถ้ามีอาการก็จะให้รีบกลับมารพ. ซึ่งภาวะนี้ดูแลได้ ในสหรัฐไม่มีใครเสียชีวิต โดยจะดูแลอย่างดีในแผนกผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือ CCU เพื่อมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด และหายเองได้ รวมทั้งมีการให้ยาช่วยอาการดีขึ้น
“โดยสรุป เรามีระบบการเฝ้าระวังติดตาม มีระบบดูแลรักษาตามมาตรฐาน เชื่อว่า ความเสี่ยงน้อยกว่าประโยชน์ที่ได้รับ เพราะข้อมูลเสียชีวิตเราก็ยังพบเด็กอยู่ ซึ่งตัวเลขเด็กกลุ่มนี้น่าจะประมาณหลักแสนคน เพราะหลักๆ มีอ้วน น้ำหนักเกิน เบาหวาน นอกนั้นยังมีโรคหัวใจ ภาวะโรคไต ที่เป็นแต่กำเนิด ซึ่งก็เป็นหลักแสนราย สรุปคือ เบื้องต้นเรายังไม่ได้ฉีดในกลุ่มเด็กทั่วไป” นพ.โสภณ กล่าว
00ติดตามอาการไม่พึงประสงค์บุคลากรด่านหน้าไทย อายุน้อยกว่า 30 ปีอยู่ที่ 60%
เมื่อถามกรณีบุคลากรที่ฉีดไฟเซอร์มีอายุที่ต้องเฝ้าระวังอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ประมาณ 4 วันฉีดให้บุคลากรด่านหน้าไปแล้ว 5.7 หมื่นคน ยังไม่พบผู้ที่มีอาการดังกล่าว หากมีอ้างอิงจากผลการศึกษาสหรัฐ ยกตัวอย่าง 1.5 ล้านโดสอาจเจอได้ประมาณ 6 ราย แต่ขณะนี้ต้องติดตามต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีนไป 5.7 หมื่นคนส่วนใหญ่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยอยู่ในวัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด คือ อายุน้อยกว่า 30 ปีประมาณ 60% จริงๆ คุณหมอคุณพยาบาล บุคลากรที่รับวัคซีนไฟเซอร์จะทราบเรื่องนี้ดี และมีการเฝ้าระวังอาการตนเองอยู่เช่นกัน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 49 views