สภาการพยาบาลชี้การออกประกาศห้ามฉีดยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เพื่อคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล เผยมีการตั้งคณะทำงานรีวิวความรู้และเคสต่าง ๆ แล้ว สรุปว่าอาจส่งผลข้างเคียงถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการแม้วิธีการฉีดจะถูกต้องก็ตาม ถ้าแพทย์จะใช้ยานี้ แพทย์ต้องเป็นผู้ฉีดเองจะได้เฝ้าระวังต่อเนื่อง

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวถึงการออกประกาศสภาการพยาบาลเรื่องห้ามมิให้ใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีดว่า สภาการพยาบาลได้ตั้งคณะทำงานเพื่อรีวิวความรู้และเคสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนได้ข้อสรุปออกมาเช่นนี้ เนื่องจากยาดังกล่าวอาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะเร่งด่วนที่อาจคุกคามคนไข้ถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการแม้ว่าวิธีการฉีดจะถูกต้องก็ตาม เพราะฉะนั้นถือเป็นยาอันตราย ถ้าแพทย์จะใช้ยานี้ แพทย์ต้องเป็นผู้ฉีดเองเพื่อจะได้เฝ้าระวังต่อเนื่องรวมถึงไม่มีปัญหาขณะฉีด

"ที่ผ่านมาอาจมีฉีดบ้างภายใต้การดูแลของแพทย์แต่ตอนนี้คงไม่ใช่แล้ว ถ้ารีวิวดู ยามันมีผลที่อาจมีอาการข้างเคียงที่อันตรายกับหลายระบบในร่างกายของคนไข้ ยาตัวนี้จึงไม่ควรให้พยาบาลฉีด"

รศ.ทัศนา กล่าวอีกว่า นอกจาก Diclofenac ชนิดฉีดแล้ว มียาตัวอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนไข้ให้เลือกใช้ ซึ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือแพทย์ทางโรคกระดูกก็ไม่นิยมจะใช้ยาตัวนี้แล้ว แต่บางครั้งยังมีการสั่งให้ใช้ยาตัวนี้ ประกาศของสภาการฯ จึงคุ้มครองไม่ให้พยาบาลเป็นผู้ฉีดยา เพราะอันตรายอาจเกิดกับคนไข้และความไม่ถูกต้องก็อาจเกิดกับตัวพยาบาลด้วย

อนึ่ง ประกาศสภาการพยาบาลฉบับนี้ ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 ธ.ค. 2562 โดยให้มีผลในวันถัดไป สาระสำคัญคือ 1.ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด และ 2.ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการดูแลผู้รับบริการก่อนและหลังการฉีดยา Diclofenac ตามมาตรฐานวิชาชีพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

อย.ทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค หลังมีรายงานอาการผิดปกติของเส้นประสาท

'สภาการพยาบาล' ออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ‘ไดโคลฟีแนค’