"สมศักดิ์" สั่ง อย. ยกเครื่อง อนุมัติ - อนุญาต หลังผู้ประกอบการสะท้อนปัญหาความล่าช้า พร้อมตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ปรับปรุงระเบียบการอนุญาต และการกำหนดโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

 

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เรื่อง "การยกระดับกระบวนการอนุมัติ อนุญาต สู่การยอมรับในระดับสากล" เพื่อนำข้อมูลมาอำนวยความสะดวกให้ต่อไป ซึ่งหลังการรับฟังข้อมูลแล้ว อย.ได้มาสรุปประเด็นสำคัญให้ได้รับทราบ จึงมีข้อสั่งการให้หาแนวทางแก้ไขปัญหาตามที่ผู้ประกอบการได้นำเสนอ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่ ผลักดันให้ได้รับการยอมรับสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สู่สากลได้

ผู้ประกอบการสะท้อนปัญหา อย.

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการรับฟังความคิดเห็น ผู้ประกอบการได้ร่วมกันสะท้อน เช่น 1.อย. ทำงานล้าช้า ส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด 2.กฎหมายการส่งออกสินค้า ไม่สอดคล้องกับตลาดโลก 3.การประสานงานใน อย. มีหลายขั้นตอน และหลักเกณฑ์จำนวนมาก ทำให้ต้องติดต่อกับหลายส่วน 4.การทำฉลาก โฆษณา ไม่เอื้อกับการตลาด ธุรกิจ และการแข่งขันกับต่างประเทศ และ 5.มาตรฐานในการเติมสาร ในสินค้าของประเทศไทยน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ สินค้าต่างชาติที่นำเข้ามาขายได้ ทำให้ผู้ประกอบการเสียเปรียบ โดยจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุง ยกระดับการให้บริการของ อย.ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ที่ต้องขออนุมัติ อนุญาตจาก อย. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค สู่การยอมรับในระดับสากล

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า โดยในประเด็นข้อเสนอเรื่องระบบไอทีที่ยังไม่เชื่อมโยงกันของ อย.และหน่วยงานอื่นนั้น ก็ได้มอบหมายให้ปรับปรุงพัฒนาระบบ ให้เชื่อมโยงกันให้ครบถ้วนทุกกอง ทุกขั้นตอน ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมพัฒนาระบบติดตามเอกสารออนไลน์ การปรับคู่มือประชาชนให้ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายขึ้น โดยให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคู่มือด้วย

พร้อมทั้งให้สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานโรงงานที่มีศักยภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Pracice : GMP) สามารถผลิตสมุนไพรได้ การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับกฎหมายยา ให้เป็นมาตรฐานสากล จัดทำ Positive List สมุนไพร เพื่อให้ขึ้นทะเบียนได้ง่ายขึ้น ปรับปรุงกฎหมาย ในเรื่องระเบียบการอนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพความเสี่ยงต่ำให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น

ตั้ง 2 ชุดคณะทำงานปรับปรุงระเบียบ

อีกทั้ง มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้การอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 2.คณะทำงานเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์และระบบธุรกิจในปัจจุบัน