ผอ.ด่านอาหารและยา เผยแผนปฏิบัติการพัฒนาการดำเนินงานด่าน อย. ดันร่างพ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขับเคลื่อน One ด่าน One Lab One Day จ่อประสานศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งแล็บในด่าน ตรวจผักและผลไม้
เปิดแผนงาน ด่านอาหารและยา
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่รพ.สะเดา จ.สงขลา ดร.วัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้อำนวยการกองด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพของด่านอาหารและยา ว่า สำหรับมีแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของด่าน อย. มีเรื่อง 5S คือ Speed ลดระยะเวลาการตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านอาหารและยา โดยจะลดลงให้ได้ 50% , Safety มีระบบการจัดการความเสี่ยงในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ , Satisfaction มอบอำนาจจากส่วนกลาง พิจารณาอนุญาตก่อนการนำเข้า e-Submission
Supporter ผู้ประกอบการนำเข้ารับการประเมิน GIP Plus จัดตั้งด่านอาหารและยา และ Sustainability ความยั่งยืนโดยลดการใช้กระดาษ ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำร่าง พ.รบ.นำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เนื่องจากด่านเวลาตรวจสินค้าต้องใช้กฎหมายตามผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ ต้องเข้ากรรมการแต่ละชุด เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย ซึ่งหากมีกฎหมายนี้ ก็จะสามารถทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้นทันสถานการณ์มากขึ้น
ตอบสนองเป็นฮับการแพทย์และสุขภาพ
ส่วนการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล มีทั้งเรื่อง "IGNITE Thailand" อย่างศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว มีการปรับปรุงระเบียบการนำอาหารติดตัวเข้ามาของนักท่องเที่ยว ปรับปรุงกฎเกณฑ์การนำเครื่องมือแพทย์บางชนิดมาใช้เฉพาะโดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ , ศูนย์กลางอาหาร ปรับปรุงการพิจารณาอนุญาตนำเข้าอาหารที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายผ่านระบบ e-Submission ,
ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ มีโครงการ GIP+ ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ดี เฝ้าระวังตรวจผู้เดินทางเข้าประเทศและผ่านแดน , ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค และศูนย์กลางการบิน ปรับหลักเกณฑ์การนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพติดตัวของผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ส่วนเรื่อง "SOFT POWER" ปรับปรุงระบบ e-Submission รองรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการถ่ายภาพยนตร์ในประเทศ การนำมาจัดนิทรรศการ ปรับปรุงกฎหมายแก้ไขการนำยาติดตัวเข้ามาได้ 30 วัน เป็นต้น
ที่มาดัน ร่างกม.นำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ถามถึงการร่าง พ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะเข้ามาช่วยการทำงานของด่าน อย.อย่างไร ดร.วัฒนศักดิ์ กล่าวว่า อย.มีแนวความคิดว่าจะยกร่าง พ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะขับเคลื่อนให้ได้ภายในปี 2571 ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะช่วยกำหนดวิธีการตรวจของด่าน อย.ได้เลย เพราะปัจจุบันด่านยังต้องอาศัยประกาศกระทรวง ระเบียบกฎหมายของทุกผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นฐานอำนาจให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจปล่อย ถ้ามี พ.ร.บ.นี้ ก็จะมาเขียนวิธีการหลักเกณฑ์ได้รวดเร็วขึ้น หรืออย่างการประกาศตั้งด่าน อย.แต่ละครั้ง ก็ต้องไปเข้าการพิจารณาของตามกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละตัว กว่าจะตั้งด่านได้แต่ละที่ก็ใช้เวลาครึ่งปีกว่า ถ้าบางผลิตภัณฑ์ยังไม่ผ่าน เช่น ยา ด่านก็จะตรวจยาไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันกรมศุลกากรหรือกรมประมงเองต่างก็มีกฎหมายลักษณะนี้ในการกำหนดการทำงานของด่านเอง ซึ่งจะทำให้เรามีโครงสร้างอัตรากำลังต่างๆ ตามมาด้วย
"นอกจากนี้ ยังเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เพราะบางครั้งมีการสื่อสารไม่เข้าใจทั้งชิปปิ้ง ผู้นำเข้า เกิดความล่าช้า แล้วบอกว่าของมาติดด่าน ถ้ามี พ.ร.บ.จะช่วยผู้ประกอบการหาคนมาทำงานที่มีประสิทธิภาพมีความรู้ความสามารถ โดยช่วงนี้เรายังไม่มีกฎหมาย ก็หารือกับศุลกากรด่านท่าเรือฯ มาร่วมกันทำท่าเรือแบบ Pilot Project ขึ้นทะเบียนชิปปิ้ง ผู้แทนออกของ ซึ่งจริงๆ ต้องมีใบอนุญาตดำเนินการ ถ้าเรามี พ.ร.บ.ตรงนี้ก็จะดีขึ้น สำหรับรายละเอียดของกฎหมายนี้จะเน้นขั้นตอนวิธีการ ไม่มีบทลงโทษ ซึ่งจะไปใช้ตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละตัวแทนในฐานความผิดนั้น" ดร.วัฒนศักดิ์กล่าว
อนาคต ‘One ด่าน One แล็บ One เดย์’
ดร.วัฒนศักดิ์กล่าวอีกว่า ด่าน อย.มีแนวทางในการทำ One ด่าน One Lab One Day โดยจะประสานศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตั้งแล็บในด่าน อย. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องของผักและผลไม้ นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาระบบวิธีการประเมินความเสี่ยงที่จะมีการกำหนดว่ามีปัจจัยเสี่ยงโดยระบุเป็นแหล่งต้นทาง ชนิดสินค้า เพื่อให้ระบบวิเคราะห์และดำเนินการเปิดตู้เพื่อสุ่มตรวจ
- 409 views