"หมอณรงค์" คุมบังเหียน อย. สู่มิติใหม่องค์กร ปรับ Mindset สร้างทีม ‘ FDA CareD Plus’ ดึงศักยภาพคนในฝึกอบรมหลักสูตร หวังช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้ความสำคัญบุคลากร 1,696 คน พร้อมสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์

 

“หากต้องการปรับเปลี่ยนอะไร...สิ่งสำคัญ Mindset ต้องเปลี่ยน...” อีกหนึ่ง Keypoints ที่ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ถึงแนวทางการปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และตอบรับนโยบายสาธารณสุข

เพราะอะไร..ถึงต้องปรับ Mindset คนในองค์กร เนื่องจากมองว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทั้งช่องทางการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ รวมไปถึงหลังการระบาดใหญ่โควิด19 ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่หลายองค์กรต้องปรับเปลี่ยน ยิ่งภาครัฐ จะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น มีการสื่อสารหลายทาง ทั้งจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการมากขึ้น

ดังนั้น ด้วยบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งบริหารกฎหมายด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 8 ฉบับ มีพรบ.ยา พ.ศ.2510 พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 พรบ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551  เป็นต้น ซึ่งภารกิจแตกต่างกันไป อาทิ การอนุมัติ อนุญาต ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สถานประกอบการ โฆษณา และฉลาก การเฝ้าระวังบังคับใช้กฎหมาย การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค การส่งเสริมการมีสว่นร่วมของภาครัฐ เอกชน ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายประชาคมสุขภาพ รวมไปถึงต้องสร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์จำเป็น ฯลฯ

นพ.ณรงค์ อธิบายว่า ด้วยภารกิจ หน้าที่ต่างๆ การจะปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เริ่มแรกจึงต้องปรับ Mindset หรือ มุมมองของบุคลากรในองค์กร มุ่งตอบสนองผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มุ่งมั่น ทุ่มเท ทั้งนี้การขับเคลื่อนทั้ง 19 หน่วยงาน บุคลากรทั้งสิ้น 1,696 คน โดยปรับบทบาททำงานเชิงรุกมากขึ้น คอยเฝ้าระวังเตือนภัยผู้บริโภค ประชาชน รวมไปถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพใหม่ๆ  ทำอย่างไรให้มีการอนุมัติอย่างรวดเร็ว แต่มีคุณภาพตามมาตรฐานและปลอดภัย การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholder เข้ามาแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ความคาดหวัง สภาพปัญหา ฯ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่นำไปสู่การดำเนินการตามนโยบาย QuickWin 100 วัน

การปรับความคิดเพื่อการพัฒนาตนเอง เดิม อย.มีเข็มมุ่ง ที่เรียกว่า  5S   คือ Speed เพิ่มความรวดเร็วการอนุมัติ อนุญาต การตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ลดขั้นตอนการให้บริการ ฯลฯ  Sustainability สร้างความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ Safety สร้างความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ฯลฯ Satisfaction ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง และ Supporter สนับสนุนให้มีขีดความสามารถการแข่งขัน

“จาก 5S เราได้เพิ่มคำว่า   RST  เริ่มจาก  Rethink  เปลี่ยนแนวความคิดเดิม  Reform  ปรับปรุง เปลี่ยนรูปแบบ  Rerole ปรับบทบาท ทำงานเชิงรุก และ redesign ออกแบบใหม่ ส่วน S คือ Security ต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้บริโภค และ T คือ Transparency ความโปร่งใส”

โดยแนวคิดทั้งหมดต้องนำมาปรับเปลี่ยนองค์กร โดยฟังเสียงผู้บริโภคมากขึ้นว่า คาดหวังอะไร คิดอย่างไร และผู้ประกอบการคาดหวังอะไรจากอย. ชวนคนที่เกี่ยวข้อง Stakeholder เข้ามาพูดคุย เรียกว่า อย.เปิดบ้าน OpenHouse พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หน่วยงานที่ร่วมมือกับอย.ในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นเรามองว่าจะมีความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์ด้วยการปรับความรวดเร็วในส่งรายงานผลระหว่างกันและปรับรูปแบบผลการตรวจวิเคราะห์เป็น Digital สามารถทราบข้อมูลเรียลไทม์ ( I Lab Plus )

เรื่องนี้สามารถดำเนินการได้ใน Quickwin 100 วัน อย่างแน่นอน และการพูดคุย รับฟัง สถานประกอบการ การจัดทำระบบอนุมัติอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น หรือแม้แต่ผลการตรวจสอบทางแล็บที่เดิมอาจใช้เวลาเป็นเดือนๆ ก็จะลดเวลาให้เหลือ 2 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้น ยังมี “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”  ซึ่ง อย.ดูเรื่อง ‘ร้านยาคุณภาพ’ จะมีการพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถรองรับการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ที่ผู้ป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเข้ารับยาร้านยาคุณภาพได้  นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง เศรษฐกิจสุขภาพ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและวัตถุอันตราย การอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ รวมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย รวมไปถึงนักท่องเที่ยวปลอดภัย เราจะช่วยเฝ้าระวังดูแลการผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารแหล่งท่องเที่ยว

“ อย.ยังจัดตั้งทีมประสานใจ FDA CareD Plus เพื่อสื่อสาร สร้าง ความเข้าใจกับผู้มารับบริการ ลดช่องว่าง ลดความไม่เข้าใจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งทีมดังกล่าวจะเป็นบุคลากรของอย.ที่ปฏิบัติงานเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะร่วมในการอบรมหลักสูตร CareD Plus เพิ่มเติม เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นพ.ณรงค์ กล่าว

รักษาราชการแทนเลขาฯอย. ยังทิ้งท้ายถึงบุคลากรที่ปฏิบัติงานในอย.ว่า ไม่ต้องกังวลในเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจ พร้อมสนับสนุนทรัพยากร เครื่องมือการทำงาน ให้อย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์