กรมควบคุมโรคเผยอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนพบได้ แต่ไม่มาก เมื่อเทียบกับประโยชน์การป้องกันความรุนแรงโควิด และอาจเสียชีวิต เผยข้อมูล คนฉีดซิโนแวคมีอาการแพ้รุนแรง หรือ Anaphylaxis 24 รายแต่รักษาหายแล้ว ส่วนแอสตร้าฯ 6 ราย ทั้งหมดหายเป็นปกติ ส่วนลิ่มเลือดอุดตันร่วมเกล็ดเลือดต่ำคนไทยพบน้อย ขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในไฟเซอร์ มีรายงาน 1 ราย แต่หายเป็นปกติแล้ว

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 ก.ย. 2564 ที่กรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งถือเป็นอีกมาตรการสำคัญที่ควบคุมการระบาด สถานการณ์การป่วย การติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น โดยในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็น 758,503 โดส ทำให้ยอดฉีดสะสมอยู่ที่ 39,631,862 โดส โดยคนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มที่ 26,954,546 คน คนที่ฉีดครบ 2 เข็มมีจำนวน 12,063,643 คน ในระยะต่อไปจะมีวัคซีนมากขึ้น เพราะฉะนั้นความร่วมมือในการฉีดวัคซีนให้พี่น้องประชาชนจึงมีความสำคัญมาก

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีบางคนภูมิคุ้มกันขึ้นสูง บางคนขึ้นไม่สูงมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนตอบสนองวัคซีนไม่เหมือนกัน แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขเวลาจะจัดโปรแกรมฉีดวัคซีน จะคำนึง 1.ประสิทธิภาพ 2.ความปลอดภัย แต่อย่างที่ทราบ วัคซีนคือ เชื้อโรคที่ทำให้ตาย อ่อนแรง หรือชิ้นส่วนของเชื้อโรคเมื่อเข้าสู่ร่างกายคน ก็อาจแพ้ได้ หรือบางรายรุนแรงจนอาการหนัก และอย่างที่ทราบว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน บางคนภูมิฯขึ้นน้อย บางคนขึ้นมาก ซึ่งภูมิฯขึ้นมากอาจเกิดความผิดปกติ ทำให้อวัยวะบางอย่างผิดปกติ เช่น ระบบประสาท ระบบหัวใจ ดังนั้น ความปลอดภัยเราต้องคำนึงเสมอเมื่อต้องนำวัคซีนมาให้พี่น้องประชาชน

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วเกือบ 40 ล้านโดส คาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้จะฉีดได้ทั้งหมด 45 ล้านโดส สิ่งที่ตามมาคือ ผลข้างเคียงอาการไม่พึงประสงค์จะเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีน 4 ชนิด คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ โดยแอสตร้าฯ ฉีดมากที่สุด รองลงมา คือ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ ผลข้างเคียงส่วนใหญ่คล้ายกัน มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนหัว ถือว่าไม่รุนแรง พัก 1-2 วันทานยาลดไข้ก็จะดีขึ้น แต่อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง อย่างของซิโนแวค อาการแพ้วัคซีน หรือที่เรียกว่า Anaphylaxis พบ 24 ราย คิดเป็น 0.16 ต่อแสนโดส ซึ่งอาการที่แพ้พบว่า ทั้งหมดอาการไม่รุนแรงมาก ซึ่งได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ พบอาการแพ้วัคซีน หรือที่เรียกว่า Anaphylaxis 6 ราย หรือ 0.04 ต่อแสนโดส ทั้งหมดหายเป็นปกติ

ส่วนอีกอาการคือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ หลังได้รับวัคซีน 5 ราย หรือ 0.03 ต่อแสนโดส ซึ่งอุบัติการณ์นี้พบในชาวตะวันตก อย่างอเมริกาหรือยุโรปพบมากกว่าเอเชีย ดังนั้น ผลข้างเคียงจากวัคซีนหลักของไทยค่อนข้างน้อย มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ส่วนซิโนฟาร์ม พบประมาณ 4.46 ต่อแสนโดส แต่ต้องติดตามรายละเอียดอีก เนื่องจากขณะนี้ฉีดไปยังไม่มากพอ ส่วนไฟเซอร์ ที่ผู้ปกครองกังวลว่า สหรัฐอเมริกาหรือยุโรป พบอุบัติการณ์กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น สำหรับไทยพบ 1 รายหลังจากฉีดไปประมาณ 1 ล้านโดส คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส ขณะนี้หายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม อาการไม่พึงประสงค์ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามต่อเนื่อง

สำหรับรายเสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน ขออธิบายว่า ในคนฉีดวัคซีนจะมีการติดตามไปประมาณ 1 เดือนหรือ 4 สัปดาห์ หากมีอาการผิดปกติต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต เราต้องมีการพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ เพื่อพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน และหากเป็นไปได้ รายที่เสียชีวิตเราจะขอชันสูตพลิกศพ เพื่อรวบรวมข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ

โดยข้อมูลผู้เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีน 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญได้รับพิจารณาแล้ว 416 ราย พบว่าส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน 249 ราย เช่น ติดเชื้อระบบประสาทและสมอง เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตัน ปอดอักเสบรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ส่วนอีก 32 รายไม่สามารถสรุปได้ ส่วนที่สรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนมี 1 ราย คือ มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ดังนั้น จากการฉีดไปเกือบ 40 ล้านคน มี 1 รายที่เกี่ยวกับวัคซีน ถือว่าวัคซีนมีความปลอดภัยถ้าเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับอาการไม่พึงประสงค์ มีประโยชน์มาก จึงให้ฉีดวัคซีนต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีน หรือที่เรียกว่า Vaccine-Induced immune Thrombotic Thrombocytopenia (VITT) เป็นได้ในการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ซึ่งในต่างประเทศจะพบ 0.7 ต่อแสนประชากร แต่ไทยพบไม่มากคิดเป็น 0.03 ต่อแสนประชากร โดยพบผู้ป่วยสงสัย 5 ราย และมี 1 รายที่เข้าข่าย VITT อย่างไรก็ตาม หลังการฉีดวัคซีนหากปวดศีรษะมาก แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว คล้ายอาการอัมพาตอัมพฤกษ์ หากพบภายหลังรับวัคซีน 4-30 วัน ให้รีบพบแพทย์เพื่อเข้าสู่การวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถรักษาได้ ขณะเดียวกัน จะมีการเพิ่มความตระหนักแก่บุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถทำการวินิจฉัยภาวะดังกล่าว และรักษาได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะจากวัคซีนชนิด mRNAนั้น จริงๆแล้วการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เพราะตัวโรคก็ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม ความชุกของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทั่วโลกพบประมาณ 10 รายต่อแสนราย แต่ไทยพบไม่มากประมาณ 2 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งโรคนี้ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย และหัวใจวายได้ อุบัติการณ์ที่พบมีในไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ส่วนวัคซีนอื่นๆพบได้แต่ไม่บ่อย สำหรับประเทศไทยฉีดวัคซีนไปประมาณ 8 แสนกว่าโดสมีรายงาน 1 คน มีอาการแน่นหน้าอก ตรวจไม่พบสาเหตุการติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งอาการไม่รุนแรง ได้รับการรักษาและหายเป็นปกติ โดยมีการติดตามวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สำหรับคำแนะนำอาการกล้ามเนื้อหัวอักเสบหลังฉีดวัคซีนนั้น เกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก และรักษาหายได้ โดยหากฉีดวัคซีนไปแล้ว 4- 30 วันแล้วมีอาการแน่นหน้าอกให้รีบแจ้งแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป