สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค แต่ให้ทำหน้าเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือแพทย์ในการดูแลผู้รับบริการก่อนและหลังการฉีดยา Diclofenac ตามมาตรฐานวิชาชีพเท่านั้น ระบุเป็นไปตาม คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ที่แนะนำให้จำกัดการใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนค เฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขึ้นไป โดยให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสภาการพยาบาลเรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด โดยระบุว่า

เนื่องจากยา Diclofenac ชนิดฉีด ซึ่งเป็นยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อผู้รับบริการภายหลังการฉีดยามีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับคู่มือการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use Hospital Manual) โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (2558) แนะนำให้จำกัดการใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีด เฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขึ้นไป โดยให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 วรรคสอง 7.2 และข้อ 18 วรรคสอง 18.2 แห่งข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2560 สภาการพยาบาลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาลในการประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด

ข้อ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการดูแลผู้รับบริการก่อนและหลังการฉีดยา Diclofenac ตามมาตรฐานวิชาชีพ

ข้อ 3 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2562

รองศาสตราจารย์ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

อย.ทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค หลังมีรายงานอาการผิดปกติของเส้นประสาท