“อนุทิน” เรียกหารือ 6 บริษัทนำเข้าวัคซีนแจ้งรายงานผลการพัฒนาวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ สอดคล้องเชื้อกลายพันธุ์ รองรับปี 2565 ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคเผย มีทั้งวัคซีนโมเดอร์นา -ไฟเซอร์-จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน -บารัต รวมทั้งขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนชนิดเชื้อตาย
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 ก.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค หารือร่วมกับผู้แทนนำเข้าวัคซีนโควิด 19 จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย จำกัด) ผู้นำเข้าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า , บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ , บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา , บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน , บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนของบารัต และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนแวค โดยใช้เวลาหารือนานเกือบ 3 ชั่วโมง
ต่อมาเวลา 17.30 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวภายหลังการประชุม
โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า กรอบการจัดหาวัคซีนในปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส ขณะนี้เราเซ็นสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้าจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดส วันนี้ลงนามสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และมีการสั่งซื้อวัคซีนและมีแผนนำเข้าเดือน ก.ค. - ส.ค. ของซิโนแวคอีกประมาณ 20 ล้านโดส ซึ่งส่วนหนึ่งซื้อไปแล้ว ภาพรวมเรานำเข้านำประมาณ 100 ล้านโดส แต่ยังมีวัคซีนจากหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกันนำเข้า เช่น วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้า หรือวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ทำให้ประเทศไทยสามารถหาวัคซีนมาเพิ่มเติมในภาวะความต้องการฉีดของประชาชนมีมาก
มติคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่ให้จัดหาเพิ่มเติมอีก 120 ล้านโดสในปี 2565 เป็นที่มาของการการประชุมวันนี้เพื่อหารือแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยเชิญบริษัทผู้แทนจำหน่าย 6 รายดังกล่าวมาหารือ ซึ่งมีหลายเทคโนโลยี ทั้ง mRNA ไวรัลเวคเตอร์ และเชื้อตาย ซึ่งทั้ง 6 รายได้รายงานความก้าวหน้าในวัคซีนที่ตัวเองรับผิดชอบหรือผลิต โดยเฉพาะการพัฒนาปรับปรุงวัคซีนในรุ่นต่อไป เพราะเชื้อไวรัสโควิด 19 มีการกลายพันธุ์ ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละชนิดลดลง จึงมารายงานความก้าวหน้าว่ากำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ให้มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้น เพื่อให้ทีมประเทศไทยทราบเรื่องนี้ และพูดคุยระบบการจำหน่ายและซัพพลายแนวโน้มเป็นอย่างไร จัดหาได้ในช่วงไหนอย่างไร รวมถึงสอบถามในเรื่องจำนวนที่จะเจรจาซื้อขายในปี 2565 เป็นต้น
รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนรูปแบบใหม่ๆ เช่น การกระตุ้น หรือ บูสเตอร์โดส ซึ่ง 6 รายแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ สธ.และสถาบันวัคซีนแห่งชาติประเด็นต่างๆ ครบถ้วน ได้สิ่งที่มีประโยชน์ ต่างฝ่ายจะนำเอาข้อมูลที่ได้ไปปรึกษาหารือและมีการเจรจาเรื่องการจองวัคซีนต่อไป จะรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ
นอกจากนี้ ทาง อภ. ยังได้นำผลการวิจัยวัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย ที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์ ซึ่งผ่านการทดลองระยะที่ 1 ในมนุษย์แล้ว และกำลังทดลองผ่านระยะที่ 2 ในมนุษย์ ก็มารายงานความก้าวหน้า ซึ่งเป็นที่น่ายินดีถ้าจะพัฒนาวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศเองได้ก็เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคในอนาคต ซึ่งเราหวังว่าจะสามารถต่อสู้กับเชื้อที่กลายพันธุ์ตลอดเวลาได้ ส่วนประสิทธิภาพที่จะต่อสู้กับเดลตา เบตา อย่างไรก็ต้องรอผลการศึกษาอีกครั้ง และสุดท้ายพูดคุยเรื่องการจัดหาวัคซีนชนิดอื่นๆ นอกจาก 6 รายนี้ในต่างประเทศ ก็จะเชิญมาประชุมครั้งต่อไปและรายงานความคืบหน้า
เมื่อถามว่ากำหนดสัดส่วนการจัดหาวัคซีน 120 ล้านโดสในปีหน้าหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า วันนี้เป็นการแจ้งบริษัทที่เกี่ยวข้องที่มีในประเทศไทยให้ทราบว่า เรามีเป้าหมายหาวัคซีน 120 ล้านโดส และมอบการบ้านว่าจะสามารถส่งซัพพลายให้ประเทศไทยได้เท่าไร จะประชุมหารือกันอีกหลายครั้ง
ถามถึงวัคซีนแพลตฟอร์มโปรตีนซับยูนิตมีการเจรจาบ้างหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ปรึกษาหารือและพูดคุยในเบื้องต้น แต่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมประชุมหารือ ก็คงเป็นลำดับถัดไป จะมีการหารือและพูดคุย ทั้งทางอีเมลติดต่อและการคอนเฟอเรนซ์อยู่เป็นระยะ ถ้าพร้อมก็คงจะนำเข้ามาต่อไป
ถามว่าที่มีการบอกจะจองซื้อไฟเซอร์เพิ่มอีก 50 ล้านโดสในปีหน้าถือว่าแน่ชัดแล้วหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เป็นขั้นตอนการเจรจาที่เราให้ข้อมูลว่าความต้องการเท่าไร หรือเขาส่งข้อมูลมาว่าเสนอยอดให้ไทยได้เท่าไร อยู่ในขั้นตอนการเจรจา เช่นเดียวกับทุกบริษัทให้เห็นตัวเลข 120 ล้านโดส แต่ละบริษัทไปทำการบ้านมาว่า ถ้าไทยต้องการวัคซีนจำนวนขนาดนี้ในเจนเนอเรชันใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ จะมีโอกาสหรือบริษัทจะหาวัคซีนมาให้เราได้เท่าไรในช่วงเวลาไหน ส่วนปี 65 การถ่ายทอดเทคโนโลยียังเป้นแผนงานหลักมีสถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการ
เมื่อถามถึงประเทศที่จะขอแลกเปลี่ยนวัคซีนโควิดแต่เปลี่ยนมาเป็นบริจาคมีการตกลงเรียบร้อยแล้วหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า นอกจากญี่ปุ่นที่เคยบริจาคมาแล้ว 1.05 ล้านโดส มี 2 ประเทศที่กำลังพูดคุยอยู่ ทางประเทศผู้ที่จะบริจาคขอว่า ขอเขาเป็นคนประกาศก่อนสัปดาห์หน้า ขอให้อดใจรอ แต่มีความเป็นไปได้สูง
- 109 views