ที่ประชุมเห็นชอบตามกระทรวงสาธารณสุข กรณีฉีดวัคซีนสลับชนิด “ซิโนแวค-แอสตร้าฯ” และฉีดแบบชนิดเดียวกัน คือ แอสตร้าเข็มแรก และแอสตร้าฯเข็มที่สอง ย้ำมีงานวิจัยและองค์การอนามัยโลกรับรอง ด้านปลัดสธ. เตรียมทำหนังสือราชการส่งถึงสถานพยาบาลกำหนดแนวทางฉีดวัคซีน ทั้งฉีดสลับชนิด และบูสเตอร์โดสของบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 16 ก.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค. ว่า ข้อสรุปวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้มีการพูดถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกว่า บูสเตอร์ โดส ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็มด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือชนิด mRNA และในส่วนประชาชน ที่ประชุมให้สามารถฉีดวัคซีนสูตรผสมได้ โดยเป็นซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 และกระตุ้นเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า
“ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำเรียนที่ประชุมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับฟังการศึกษาจากหลายหน่วยงาน ทั้งมหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ ได้มีการรายงานเรื่องการใช้วัคซีนผสมต่างชนิดกัน และผลการควบคุมโรคเป็นไปในทิศทางน่าพอใจ และในส่วนองค์การอนามัยโลก ตัวแทนประเทศไทย ได้ให้การยอมรับ” พญ.อภิสมัย กล่าว
วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์วรจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เพิ่มถึงกรณีการใช้วัคซีนสลับชนิด ว่า จากนี้จะมีหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุข ส่งไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ให้รับทราบแนวทางการใช้อย่างชัดเจน โดยหลักการคือ ต่อจากนี้จะให้ใช้ 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.วัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 และตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 3-4 สัปดาห์ 2.วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 และแอสตร้าฯเข็มที่ 2 ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนซิโนแวค และซิโนแวคนั้นขึ้นอยู่กับกรณีไป เช่น ผู้มารับบริการฉีดอาจขอฉีดซิโนแวค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดสามารถดำเนินการฉีดได้ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป
“การฉีดตรงนี้ มีเหตุผลทางข้อมูลวิชาการ เพื่อนำมารองรับกรณีสายพันธุ์เดลตา แต่หากมีสายพันธุ์อื่นๆ หรือมีวัคซีนชนิดอื่นๆมาก็ต้องปรับเปลี่ยนอีก จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และสายพันธุ์ที่ปรับเปลี่ยนกัน ส่วนกรณีบูสเตอร์โดส ทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีหนังสือแจ้งการฉีดดังกล่าว โดยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปก่อนหน้านี้ครบ 2 เข็ม โดยจะบูสเตอร์ หลังเข็มสอง 4 สัปดาห์ก็จะให้ดำเนินการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ หรือวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งของรัฐ คือ วัคซีนไฟเซอร์ หากมาเมื่อไหร่ก็สามารถฉีดต่อได้ทันที แต่ตอนนี้เรามีแอสตร้าฯ ก็จะดำเนินการด้วยแอสตร้าฯ ส่วนหากใครจะรอไฟเซอร์ก็สามารถรอได้ เพียงแต่ต้องป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้น” ปลัดสธ.กล่าว
(อ่านข่าวเพิ่มเติม : ปลัดสธ.ส่งหนังสือด่วนที่สุด! ถึงนพ.สสจ. กรณีฉีดวัคซีนสลับชนิด และบูสเตอร์โดสบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า)
(อ่านข่าวเพิ่มเติม : ศบค.ประชุม 16 ก.ค. สรุปแนวทางการใช้วัคซีนสลับชนิดแบบชัดเจน! ก่อนแจ้งสสจ.รพ.ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ)
- 11 views