ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มแพทย์ นักระบาด นักวิจัยนโยบายสาธารณสุข จัดทำข้อสรุปเสนอผู้บริหารกู้วิกฤตโควิด19 ชี้สถานการณ์แพร่ระบาดสายพันธุ์เดลตาลุกลาม ขอ “นายกฯ-ศบค.” ทบทวนพร้อมสั่งใช้ยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนแบบมุ่งเป้าสองระยะ เริ่มในกลุ่มสูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวให้ครบ 15 ล้านคนอย่างช้า 2 เดือนนี้ และมีการติดตามผลความครอบคลุมเฉพาะ 2 กลุ่ม เป็นรายจังหวัดและทั้งประเทศเป็นรายสัปดาห์ ก่อนตัวเลขป่วยและเสียชีวิตพุ่ง 7,500 รายในอีกสามเดือน

 

จากสถานการณ์โควิดในประเทศไทยที่ระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมา และยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง จนเกิดข้อกังวลว่า ในสัปดาห์หน้าตัวเลขผู้ป่วยอาจพุ่งถึง 10,000 ราย เนื่องจากสายพันธุ์โควิดมีการเปลี่ยนแปลงจากอัลฟา (อังกฤษ) เป็นสายนพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ซึ่งการแพร่กระจายเร็วกว่าอัลฟา 1.4 เท่า

ล่าสุด ทางทีม “Hfocus” รายงานว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจารย์แพทย์ นักวิชาการ นักระบาดวิทยา และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้มีการประชุมเพื่อหาทางออก ประกอบด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข : นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นพ. ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นพ. ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ นพ. ครรชิต ลิมปกาญจนรัตน์ นพ. ภาสกร อัครเสวี นพ. วินัย สวัสดิวร พญ. สุพัตรา ศรีวณิชชากร นพ. จรุง เมืองชนะ

นักระบาดวิทยาภาคสนาม : พญ. ชุลีพร จิระพงษา พญ. ดารินทร์ อารีโชคชัย นพ. ปณิธี ธัมมวิจยะ ศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ พญ. วรรณา หาญเชาว์วรกุล พญ. นิธิกุล เต็มเอี่ยม

ด้านการแพทย์การควบคุมโรคติดเชื้อและไวรัสวิทยา : นพ. ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล รศ. นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ ศ.นพ. กำธร มาลาธรรม

นักวิจัยด้านนโยบายและระบบสุขภาพ : นพ. ทักษพล ธรรมรังสี นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ พญ. อรรถยา ลิ้มวัฒนายิ่งยง นพ. ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์

 

 

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์

โดยผู้ที่เกี่ยวข้องข้างต้นได้ร่วมกันประชุมหารือ และเสนอทางออกเพื่อกู้วิกฤตโควิดระบาดหนัก ดังนี้

สถานการณ์ของโควิดในประเทศไทยช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน พ.ศ. 2564 กำลังถลำลึกเข้าสู่วิกฤตสำคัญก่อนการเปิดประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ Delta กำลังเข้ามาทดแทนสายพันธุ์ Alpha อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับประเทศอื่นๆ สายพันธุ์ Delta สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ Alpha ที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายมีนาคม พ.ศ. 2564 โดยมีอัตราการติดต่อมากกว่าเดิมถึง 1.4 เท่า ทำให้มีคนติดเชื้อมากขึ้นและจะมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและลงท้ายด้วยมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 7,500 รายในอีกสามเดือนข้างหน้า การที่ ศบค. ประกาศให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

แต่ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนที่ใช้แบบผสมผสานหลายวัตถุประสงค์และมุ่งฉีดประชากรหลายกลุ่มพร้อมกัน โดยหวังให้ได้ภูมิต้านทานหมู่ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคนในสิ้นปีพ.ศ. 2564นั้น ส่งผลทำให้ความครอบคลุมของวัคซีนในประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรครุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7กลุ่มโรค เพิ่มขึ้นได้ช้าเพียงในอัตราเดือนละ 10 % ยุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่นี้คาดว่าจะลดการตายลงได้เพียง 1,700 คนในอีกสามเดือนข้างหน้า และไม่สามารถลดภาระการครองเตียงของผู้ป่วยอาการรุนแรงที่จะเพิ่มจากเดือนมิถุนายนที่ซึ่งวิกฤตอยู่แล้วถึงสองเท่า

ดังนั้น การดำเนินการตามมาตรการเดิมอาจไม่ใช่ทางเลือกที่จะช่วยประคองและรักษาระบบสุขภาพของประเทศและนำเราไปสู่เป้าหมายการเปิดประเทศได้ ในทางตรงข้ามหากท่านนายกรัฐมนตรี และ ศบค. พิจารณาทางเลือกที่สองคือเน้นการฉีดแบบมุ่งเป้าสองระยะ คือ ระยะแรกลดการป่วยตายและภาวะวิกฤตเตียงผู้ป่วยรุนแรงซึ่งร้อยละ 90 ผู้ป่วยเหล่านี้คือผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ตามด้วยการฉีดในกลุ่มประชากรทั่วไป โดยระยะแรกสองเดือนจากนี้ไปคือ กรกฎาคมและสิงหาคม ควรมีนโยบายให้ทุกจังหวัดเร่งค้นหา ติดตามฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงเจ็ดโรคที่ยังไม่ได้วัคซีนอีก 15 ล้านคนให้ครบ

ทางเลือกนี้จะสามารถลดการตายลงได้ 4,000 รายและทำให้ภาระการครองเตียงวิกฤตยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน ซึ่งจะอยู่ในภาวะวิสัยที่พอจัดการได้ และยังสามารถประหยัดงบประมาณการรักษาไม่น้อยกว่า 500ล้านบาท รวมถึงต่อเติมกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้างาน และต่อด้วยเป้าหมายระยะที่สองในการฉีดให้กลุ่มอื่นๆ ไปจนถึงสิ้นปี จะเพิ่มโอกาสให้เราผ่านพ้นวิกฤตของโควิดและเปิดประเทศได้ตามแผน

หากคาดประมาณอย่างง่ายโดยวางสมมติฐานว่า หากการตายเพิ่มขึ้น 1.4 เท่าตามความรวดเร็วของการติดเชื้อ จะมีผู้เสียชีวิตรวมประมาณ 7,500 รายในสามเดือนข้างหน้า โดยคำนวณจาก 992 รายในเดือนมิถุนายน และจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 3,400 รายในเดือนกันยายน หรือวันละเกือบหนึ่งร้อยราย ซึ่งการคาดการนี้เป็นการคาดประมาณขั้นต่ำ และหากประมาณการความต้องการครองเตียงผู้ป่วยอาการหนักรวมสามเดือนจะสูงถึง 260,000 คน/วัน ต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 1,300 ล้านบาทในการรักษา (สปสช ต้องจ่ายค่ารักษาอย่างน้อย 5,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งไม่รวมมูลค่าสูญเสียในแง่มุมสังคมเศรษฐกิจอื่นๆ

รศ. นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์

กรณีวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองและที่ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินทุกชนิด มีข้อมูลจากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ไอร์แลนด์ อเมริกา ชิลี อิสราเอล อินโดนีเซีย ที่แสดงให้เห็นว่า แม้วัคซีนส่วนใหญ่จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เต็มที่ แต่วัคซีนทุกชนิดน่าจะช่วยป้องกันการเจ็บหนักต้องนอนโรงยาบาลหรือเสียชีวิตได้อย่างน่าพึงพอใจในระดับร้อยละ 90 ขึ้นไปหากฉีดครบสองเข็มตามคำแนะนำ ข้อมูลวิจัยจากอังกฤษพบว่าการฉีด วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ ที่ผลิตโดยบริษัท AstraZeneca เพียงหนึ่งเข็มก็สามารถลดการเจ็บหนักแบบต้องนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 70 (Public Health of England. Effectiveness of COVID-19 vaccines against hospital admission with the Delta (B.1.617.2) variant)

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนเต็มตัวในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ จากมติ ศบค. เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนแบบผสมผสานหลายวัตถุประสงค์ทั้งการลดการป่วย การตาย การควบคุมการระบาด การเปิดเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 พบว่า มีประชาชนได้วัคซีนเข็มแรกจำนวน 7.1 ล้านคน หากเป็นไปตามนี้ก็จะทำได้ตามเป้าภายในหกเดือน แต่เมื่อดูความครอบคลุมของการให้วัคซีนในกลุ่มสูงอายุและกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่มีรวม 17.8 ล้านคนทั่วประเทศ พบว่าประชากรกลุ่มนี้ ได้รับวัคซีนเข็มแรกเพียง 2 ล้านคน ซึ่งหากฉีดด้วยอัตราเดิมจะต้องใช้เวลาอีก 7 เดือนจึงจะได้ตามเป้าหมาย

จากการทบทวนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อิสราเอล พบว่าประเทศส่วนใหญ่ ใช้การฉีดแบบมุ่งเป้าสองระยะ ระยะแรกลดการป่วยหนักการตายเป็นลำดับแรก โดยเร่งฉีดในคนสูงอายุและที่มีโรคประจำตัว และตามด้วยเป้าหมายระยะสองคือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรทั่วไป ซึ่งปัจจุบันประเทศเหล่านี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมาก อยู่ในจำนวนหลักสิบเท่านั้น แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเริ่มระบาดของสายพันธุ์ Delta

** ผลพวงการเลือกยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน

ทางเลือกที่หนึ่ง  ฉีดแบบเดิมที่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือเร่งฉีดแบบปูพรม จะทำให้กลุ่มสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงมีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อเดือน หากใช้ทางเลือกนี้ จะยังคงเห็นการตายอย่างน้อยในระดับ 1,500-2,000 กว่ารายต่อเดือน และต้องการเตียงที่ดูแลผู้ป่วยหนักที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนครองเตียงวิกฤต 42,000 คนต่อวันในเดือนมิถุนายน จะเพิ่มไปเป็นสองเท่า หรือ 85,000 คนในเดือนกันยายน

ทางเลือกที่สอง  การฉีดแบบมุ่งเป้าสองระยะ ลดการเจ็บหนักและการตายในกลุ่มเสี่ยง ตามด้วยกลุ่มอื่นๆ

- ระยะแรก (ก.ค. – ส.ค.) เร่งฉีดให้ครอบคลุมกลุ่มสูงอายุและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม ตั้งเป้าครอบคลุมประชากรกลุ่มนี้ร้อยละ 50 ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 90 ในเดือนสิงหาคม เพื่อฉีดให้ครอบคลุม 16 ล้านคนอย่างน้อยหนึ่งเข็มในสองเดือน โดยกันวัคซีนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันภายในหนึ่งเดือนหลังเข็มแรก เช่น ฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือ วัคซีน mRNA ไว้ อย่างน้อย 7.5 ล้านโดสต่อเดือน (หรือหากเป็นวัคซีนเชื้อตายต้องได้สองเข็ม) และควรรวมถึงคนสูงอายุและโรคเรื้อรังของแรงงานต่างชาติซึ่งมีจำนวนไม่มากตามหลักการสากล ทางเลือกนี้ จะลดการตายตลอดสามเดือนมากกว่าทางเลือกแรก 2,300 ราย (รูปที่ ๑)

ที่สำคัญคือทางเลือกนี้จะรักษาภาระการดูแลผู้ป่วยอาการหนักให้ใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยตลอดสามเดือนจะลดภาระการดูแลผู้ป่วยหนักได้มากกว่าทางเลือกแบบแรก 80,000 คนต่อวัน (รูปที่ ๒) ซึ่งความต้องการเตียงในระดับนี้น่าจะอยู่ในวิสัยที่รองรับได้ ทำให้ระบบการแพทย์ไม่ล่ม และยังสามารถประหยัดงบประมาณการดูแลผู้ป่วยหนักได้อย่างน้อย 500 ล้านบาท ที่สำคัญคือกิจการต่างๆ ดำเนินไปได้ สามารถผ่อนปรน และมีความเป็นไปได้ในการเปิดประเทศ

- ระยะที่สอง (ก.ย. – ธ.ค.) ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แก่กลุ่มเป้าหมายระยะแรก และเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เหลือโดยควรให้ความสำคัญกับกลุ่มอายุ 40-59 ปีก่อน และตามด้วย กลุ่ม 18-39 ปี เนื่องจากจะลดการเจ็บหนักและการตายได้ดีกว่าการฉีดแบบไม่เลือกกลุ่มอายุ และจะตรงกับไตรมาสสี่ที่ประเทศไทยจะมีวัคซีนอีกหลายชนิดและมีปริมาณมากขึ้น ด้วยวิธีการนี้จะได้ผลทั้งการลดการป่วยหนัก การตาย และต่อด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นพ. ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์

 

** ข้อพิจารณาเชิงนโยบาย

 ด้วยสถานการณ์ของการแพร่เชื้อสายพันธุ์ Delta ที่จะทำให้มีการติดเชื้อง่ายขึ้นกว้างขวางขึ้น และจุดมุ่งหมายที่จะลดผลกระทบต่อการต้องปิดกิจการ กิจกรรม หรือล็อกดาวน์ อันเนื่องจากวิกฤตเตียงผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก ท่านนายกรัฐมนตรี และ ศบค. สามารถหารือพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์และผลกระทบของข้อเสนอสองทางเลือกข้างต้นกับภาคส่วนต่างๆ หากเห็นว่าทางเลือกที่สองจะลดการตาย ลดวิกฤตเตียงผู้ป่วยหนัก ได้มากกว่าแบบแรก ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะสามารถเปิดประเทศได้ ควรสั่งการใช้ยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนแบบมุ่งเป้าสองระยะ เริ่มในกลุ่มสูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวให้ครบ 15 ล้านคนอย่างช้าในช่วงสองเดือนนี้ และมีการติดตามผลความครอบคลุมเฉพาะกลุ่มสูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเป็นรายจังหวัดและทั้งประเทศเป็นรายสัปดาห์

เน้นการสื่อสารสาธารณะและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างเจาะจงถึงตัว เพิ่มรูปแบบและวิธีการให้วัคซีนกับกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้เกิดความครอบคลุมตามเป้าหมายอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยนำพาประเทศฝ่าวิกฤตได้ รวมถึงสนับสนุนให้มีวัคซีนที่มีคุณภาพหลากหลายเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะกับบริบทที่มีพลวัตสูงและเหมาะสมแก่ประชากรกลุ่มต่างๆ ที่มีสถานะและความจำเป็นด้านสุขภาพแตกต่างกันอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม