“อนุทิน” เผย สัปดาห์นี้แอสตร้าฯ ส่งมอบวัคซีนอีก 1.4 ล้านโดส ส่วนซิโนแวคเข้าเพิ่มแล้ว 1 ล้านโดส ขณะที่การจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ อยู่ระหว่าง อัยการสูงสุดตรวจสอบถ้อยคำสัญญา บางส่วนยังรับไม่ได้ ให้คร.เจรจรา ด้านวัคซีนจอห์นสันฯ ส่งเทอมชีทค้างเติ่งในไทย ติดต่อบริษัทไม่ได้ 

 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่าวันนี้วัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 1 ล้านโดส และสัปดาห์นี้แอสตร้าเซนเนก้าจะส่งรวม2 ชิปเมนท์ ประมาณ 1.4 ล้านโดส ดังนั้นโดยสรุปเดือนมิ.ย. มีวัคซีนเข้ามา 9 ล้านโดส แต่ไม่อยากให้ไปกังวลหรือมองเป็นเดือนๆ เพราะวัคซีนจะเข้ามาเป็นรายสัปดาห์ ทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เมื่อรับมาก็จะเร่งกระจายไปฉีดในพื้นที่ต่างๆ ให้เร็ว

เมื่อถามถึงกรณีที่บุคลากรการแพทย์ ราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาเนื่องจากสามารถป้องกันไวรัสโควิด – 19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ได้ นายอนุทิน กล่าวว่า ขอชี้แจงว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาขั้นสุดท้าย หรือสัญญาซื้อขายกับทางบริษัทไฟเซอร์ หลังจากคราวที่แล้วเซ็นเทอมชีท หรือหนังสือเหมือนเอ็มโอยู อย่างไรก็ตาม ยังมีบางข้อความที่สำนักอัยการสูงสุดเร่งตรวจสอบอยู่เพราะบางข้อความก็รับได้ บางข้อมความก็ยังรับไม่ได้ และให้กรมควบคุมโรคเร่งเจรจรา แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กระทบกับการจัดส่ง เพราะมีข้อกำหนดอยู่ในเทอมชีทที่ระบุว่าจะส่งในไตรมาส 4 เพราะฉะนั้นวัคซีน mRNA ที่ใกล้มือเราที่สุดตอนนี้คือไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส และเราก็ต้องส่งกำลังให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ที่พัฒนาวัคซีน mRNA ในส่วนของจุฬาฯ ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก คาดหวังว่าจะนำมาใช้ได้ในอนาคตอันใกล้  

เมื่อถามย้ำว่าจะต้องเพิ่มสัดส่วนการจัดหาให้มากขึ้นหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนี้แล้วแต่คณะกรรมการวิชาการด้านวัคซีน ต้องทำความเข้าใจว่าการใช้วัคซีนยี่ห้ออะไรก็ตาม วิธีไหนก็ตาม ห่างกันกี่สัปดาห์ก็ตาม ประเทศไทยมีคณะกรรมการวิชาการพิจารณาอยู่ แล้วแจ้งต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดเป็นแนวทางการฉีด ไม่ใช้ว่าแพทย์คนไหนจะฉีดตามใจ ฉีดความเชื่อของตัวเอง หรือไปอ่านแมกกาซีนมาแล้วอยากจะฉีดตามนั้นไม่ได้ เรามีกรรมการวิชาการอยู่ ขอให้ประชาชนวางใจได้ ส่วนตัวเองก็มีหน้าที่เร่งหางบประมาณ และนำเข้าครม.

“สำหรับปีนี้ทางไฟเซอร์จัดสรรวัคซีนตามสัญญา แต่เราก็เจรจรากับผู้ผลิตวัคซีนทุกเจ้าที่มีการติดต่อกันอยู่ว่าจะต้องเตรียมไว้สำหรับปีหน้าด้วย กรณีที่มีการพัฒนาให้ครอบคลุมสายพันธุ์อื่นๆ ตอนนี้ทุกอย่างยังไม่มีวัคซีนยี่ห้อไหนครอบคลุมสายพันธุ์เดลตา เบต้าได้เฉพาะ แต่ป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ วันนี้วัคซีนทุกเจ้าของเป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน”นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ กรณีวัคซีน mRNA จัดหาวัคซีนให้ไทยไม่ได้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะไปเจรจรากับประเทศอื่นที่มีวัคซีนจำนวนเพียงพอแล้วเพื่อซื้อต่อมาใช้ในประเทศไทย เช่นเดนมาร์คซื้อต่อจากโรมาเนีย คล้ายเป็นการเจรจรารัฐต่อรัฐ นายอนุทิน กล่าวว่า  ตอนนี้ในกฎหมายเขาว่าผู้นำเข้าวัคซีนมาต้องเป็นผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนนำเข้า วันนี้ถ้าเราจะซื้อวัคซีน mRNA ก็ต้องติดต่อกับไฟเซอร์ประเทศไทย แม้กระทั่งส่วนที่อเมริกาจะบริจาคให้ไทย 1.5 ล้านโดส ในเดือนก.ค.นี้ยังต้องปรากฎในสัญญาให้ไฟเซอร์เข้ามาเอี่ยวเลย

“ผมก็ถามเขาว่าไม่ใช่ว่าเอามาจากสต็อกโกดังของรัฐบาลอเมริกาหรือ เขาตอบว่าไม่ใช่ แต่ที่ไฟเซอร์ต้องเข้ามาเอี่ยวเพราะต้องเอาวัคซีนที่ออกมาจากโรงงานของไฟเซอร์โดยตรง ทุกวันนี้ วัคซีนทุกขวด ทุกยี่ห้อที่ส่งเข้ามาในยังประเทศไทย วิ่งตรงมาจากโรงงาน ไม่ได้มาจากสต็อกที่ไหน ตรงนี้เป็นการการันตีว่าวัคซีนปลอดภัย วัคซีนนี้ไม่ได้หลุดไปที่ไหน ถ้าไปอยู่ตามที่อื่นก่อน ถ้าถามผมที่ไม่ใช่แพทย์ เป็นแค่ประชาชนทั่วไปก็อยากรู้ว่าเอามาจากที่ไหน เก็บดีหรือเปล่า เก็บดีเท่าอย. หรือกรมควบคุมโรคเก็บหรือเปล่า” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับการเจรจรานำเข้าวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นั้น ทางบริษัทมีการส่งเทอมชีท (Term sheet) มาที่เราแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ลงนามร่วมกัน เนื่องจากยังไม่สามารถติดต่อกับบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด ได้ อันนี้เป็นความผิดเราหรือไม่ เพราะเราเร่งแล้ว เตรียมเซ็นแล้ว คาดว่าทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอาจเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วจากการหารือร่วมกันของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์ของเราเอง มีการเตือนมา เราก็ต้องฟัง เพราะเราจะไม่เอาประชาชนมาเป็นหนูทดลอง เราต้องทำตาม จะใช้ดุลพินิจเอาเองไม่ได้