กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศดูแลกำกับมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ. 2564 ในสถานพยาบาลเอกชน ช่วยสร้างระยะห่างระหว่างบุคคล ลดการเดินทาง และความแออัดในรพ. ป้องกันโควิด 19
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีในด้านการแพทย์ของประเทศไทยมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก มีการนำระบบดิจิทัล (Digital) หรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) มาใช้อำนวยความสะดวกในการสื่อสารด้วยการส่งสัญญาณเสียงและภาพ เพื่อให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และให้คำปรึกษาในการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วย ซึ่งการที่สถานพยาบาลเอกชนมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการทางการแพทย์นั้น ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด 19 การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรค การที่ผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิดต้องเดินทางออกจากที่พักมายังสถานพยาบาล ก็อาจทำให้เกิดความแออัด หรือสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการติดต่อหรือแพร่กระจายโรคได้
"ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการแพทย์ประเภทใดก็ตาม จะต้องมีการดูแล กำกับมาตรฐานให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง แก่ผู้ป่วยที่อาการไม่ซับซ้อน หรือต้องพบแพทย์เป็นประจำ รวมทั้งคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้รับบริการในสถานพยาบาลเอกชน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรม สบส.จึงได้พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล และได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ. 2564” โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (2 กุมภาพันธ์ 2564)" นพ.ธเรศ กล่าว
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนที่ประสงค์จะให้บริการโดยระบบบริการการแพทย์ทางไกล ต้องยื่นแบบคำขอบริการเพิ่มเติมต่อผู้อนุญาต คือ อธิบดีกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ แต่หากมีการให้บริการการแพทย์ทางไกลอยู่แล้วให้ยื่นแบบคำขอบริการเพิ่มเติมต่อผู้อนุญาตภายใน 90 วันนับแต่ประกาศมีผลบังคับใช้ รวมทั้ง ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องจัดให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสมในการให้บริการ อาทิ
1.จัดให้มีแพทย์ให้บริการในจำนวนที่เพียงพอต่อการให้บริการโดยตรง โดยจะต้องไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการหลักอื่นๆ
2.จัดเตรียมแผนและอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้อย่างชัดเจน และมีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงด้านสารสนเทศ
3.มีการลงทะเบียน บันทึกข้อมูล รายงานผลการให้บริการ การตรวจสอบและการยืนยันกระบวนการการให้บริการทุกขั้นตอน
4.กำกับและดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
5.มีการชี้แจงรายละเอียดก่อนการให้บริการ ขั้นตอนปฏิบัติ ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการทุกด้าน และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้รับบริการ ฯลฯ หากมีการฝ่าฝืนก็จะมีการดำเนินการเอาผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับผู้รับอนุญาต หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งนอกจากจะช่วยคุ้มครองประชาชนแล้วยังสร้างความเชื่อมั่นให้การตรวจ วินิจฉัย รักษาพยาบาล และป้องกันโรค ผ่านระบบดิจิทัลหรือเทเลเมดิซีนของสถานพยาบาลไทยว่าจะเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด หากประชาชนหรือสถานพยาบาลแห่งใดมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรม สบส. 1426
- 940 views