สธ.เดินหน้าผลักดัน รพ.สต. จับมือเกษตรกร-สถาบันการศึกษาปลูกและใช้กัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศ พร้อมจัดทำกระบวนการรองรับผู้ป่วยปลูกกัญชา มีหน่วยงานควบคุมดูแล  ชูสถาบันกัญชาทางการแพทย์เป็นตัวประสานทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง พร้อมมีบิ๊กดาต้าการใช้ทั้งประเทศไทย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการควาบคืบหน้ากัญชาทางการแพทย์แก่ Hfocus ว่า ขณะนี้มีความพยายามผลักดันให้เข้าถึงประชาชนคนป่วย ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยดูแลสุขภาพตัวเองอย่างถูกต้อง แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้ผิดประเภท หรือขายเป็นยาเสพติด แต่จุดสำคัญคือ ต้องทำให้บ้านหรือครอบครัวคนป่วยสามารถปลูกกัญชาได้ ส่วนจะเป็นกี่ต้นไม่ได้มีความหมายมากนัก ขึ้นอยู่ว่า บ้านนั้นใช้กัญชารูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นต้น ใบ ช่อดอก หรือราก และการปลูกในบ้านนั้น ต้องมีการแจ้งในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งต้องทำให้สะดวกที่สุด ขณะเดียวกันต้องมีการควบคุมและมีการแนะนำที่เหมาะสมว่า ควรใช้อย่างไร เรียกว่าเป็นเป้าหมายสูงสุด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

“นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการต่างๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จรองรับกฎหมาย ทั้งปลูกในบ้านผู้ป่วยเอง หรือปลูกในพื้นที่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) รับผิดชอบ ซึ่งมีเกษตรกรรายย่อยรวมกันและตั้งขึ้นมาเป็นวิสาหกิจชุมชน และมีรพ.สต. ร่วมกับสถาบันการศึกษามาร่วมด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย โดยในอนาคตจะมีรพ.สต.มาร่วมทำตรงนี้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนนี้ไม่ได้หมายความว่ารพ.สต.ต้องปลูกเอง แต่อาจเป็นผู้รับมาเพื่อสกัด หรือเพื่อใช้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะเป็นเรื่องความร่วมมือร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รพ.สต.ที่ทำเองเลยนั้น ยังไม่มี แต่ทราบว่ามียื่นเข้ามาทาง อย. เพื่อขอดำเนินการด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์

เมื่อถามว่าหน่วยงานใดจะมาดูแลเรื่องนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะมาควบคุมดูแลนั้น ขณะนี้มีสถาบันกัญชาการแพทย์ โดยมี นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ เป็นผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ โดยต่อไปจะทำงานควบรวมกับทุกภาคส่วน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ทางตำรวจ หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น ซึ่งต่อไปจะมีข้อมูลทั้งหมดว่า ในประเทศไทยมีหมู่บ้านจำนวนเท่าไหร่ พื้นที่ไหนปลูก ก็จะเข้าไปดูแลได้ เรียกว่าเป็น Bigdata กัญชาทั้งหมด

เมื่อสอบถามว่ายังมีแพทย์แผนปัจจุบันที่ยังไม่ยอมจ่ายยากัญชา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้เรามุ่งไปที่บุคคลเต็มใจที่จะใช้และรู้วิธีใช้ โดยขณะนี้นำร่องไปในโรงพยาบาลชุมชน 22 แห่ง ประมาณ 1.9 หมื่นคน พบว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังการใช้ยากัญชาทางการแพทย์ ส่วนที่ประชาชนขาดโอกาสในการใช้ กรณีคนไข้มะเร็งที่ปวด และกินข้าวไม่ได้ ตรงนี้ก็ต้องสร้างความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งจริงๆการรักษาตรงนี้เป็นการควบรวม ไม่ได้ส่งเสริมว่าหยุดการรักษาแผนปัจจุบัน แต่เป็นการควบรวมทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เดินหน้าขอ อย. อนุมัติปลูกกัญชา 6 ต้น รพ.สต.บ้านโนนมาลัย จ.บุรีรัมย์

แฟ้มภาพกัญชา