ภาคประชาชน ระบุ “นโยบายใช้สิทธิบัตรทอง รพ.ทุกแห่ง” โอกาสร่วมทบทวนปัญหาในระบบ พร้อมเสนอ 3 ประเด็นเร่งปรับปรุง ใช้สิทธิบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่หน่วยบริการทุกแห่ง เพิ่มเข้าถึงการรักษาโรคซับซ้อน ฯลฯ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ประชาชนใช้สิทธิบัตรทองได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งว่า การมีนโยบายนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีในการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะได้ร่วมแก้ไขในข้อจำกัดที่เป็นปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชนที่มีมานาน ทั้งในเรื่องของจำนวนหน่วยบริการไม่เพียงพอ ความแออัดของผู้ป่วยในการเข้ารับบริการ ที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน แต่ไม่ได้หมายว่าจะเปิดให้ประชาชนถือสิทธิบัตรทองไปรับบริการที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ เพราะหลักการใกล้บ้านใกล้ใจและบทบาทของหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบสุขภาพยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ ซึ่งยังเป็นส่วนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและได้รับบริการที่ดี

ทั้งนี้นโยบายนี้อาจเริ่มในส่วนของบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก่อน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ ทั้งมีความเป็นไปได้เพราะงบประมาณนี้เป็นการเบิกจ่ายตามการให้บริการของหน่วยบริการ ทั้งไม่กระทบต่อโรงพยาบาลใหญ่ เนื่องจากภารกิจของโรงพยาบาลใหญ่คือการรักษาโรคที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ไม่ใช่บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นบทบาทของหน่วยบริการปฐมภูมิ

ขณะเดียวกันขอให้แก้ไขปัญหาการย้ายสิทธิหน่วยบริการประจำเพื่อเพิ่มความสะดวกและการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน แม้ว่าปัจจุบัน สปสช.จะเปิดให้ประชาชนย้ายหน่วยบริการประจำได้ปีละ 4 ครั้ง แต่ในพื้นที่ซึ่งมีหน่วยบริการจำกัดและจำนวนประชากรมาก อย่างพื้นที่ กทม. ประชาชนในพื้นที่เอง รวมถึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามา กทม. กลับไม่สามารถขึ้นทะเบียนหน่วยบริการประจำใกล้บ้านได้ เพราะมีปัญหาผู้มีสิทธิเต็ม รวมถึงการแก้ปัญหาหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการย้ายสิทธิ เช่น ต้องมีผู้นำชุมชนหรือเจ้าของทะเบียนบ้านรับรองการย้ายสิทธิเข้าหน่วยบริการ รวมถึงการกำหนดให้สามารถใช้สิทธิได้ ต้องรอหลังการย้ายสิทธิครบ 15 วัน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ สปสช.ต้องจัดการเลย เป็นเรื่องที่กระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยทีเจ็บป่วยโดยตรง เพราะหากเจ็บป่วยแล้วต้องเข้ารับการรักษา แต่กว่าจะใช้สิทธิได้ต้องรอนานถึง 15 วัน คงไม่ใช่ ขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก ถึงขั้นที่ประชาชนสามารถโอนเงินเองได้ ดังนั้นตรงนี้เป็นจุดที่ต้องทบทวน ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนนโยบายให้ประชาชนใช้สิทธิบัตรทองที่หน่วยบริการใดก็ได้เป็นจริง แต่ไม่ถึงขั้นยกเลิกการมีหน่วยบริการประจำเลย

“ข้อเสนอนี้ภาคประชาชนได้นำเสนอมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทั้งที่เป็นเรื่องที่กระทบกับประชาชนโดยตรง” กรรมการ สปสช. กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า นอกจากนี้อยากให้ดูโจทย์ของการเข้าไม่ถึงบริการว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ซึ่งอยากให้โฟกัสแก้ปัญหาไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนที่เข้าไม่ถึงบริการที่ติดขัดในเรื่องใบส่งตัวหรือรอคิวการรักษาและหน่วยบริการประจำไม่สามารถดูแลได้ จำเป็นต้องไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพกว่า จึงควรแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทำให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการได้โดยเร็ว แต่ทั้งนี้คงต้องดูในรายละเอียดให้ดีก่อนและกำหนดหลักเกณฑ์อย่างเหมาะสม คงไม่ได้เปิดให้ประชาชนไปใช้บริการได้ตามสะดวกเลย สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และภาคประชาชนต้องมาร่วมกันหารือเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน

“นโยบายของ รมว.สาธารณสุข ภาคประชาชนเราเห็นด้วยในหลักการ คือต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน โดยในส่วนที่ให้ประชาชนใช้สิทธิบัตรทองได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง เรามองว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้มีการทบทวน และปรับปรุงแก้ไขระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นปัญหาในการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน โดยยังคงเน้นหลักการสร้างความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิและการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ” นายนิมิตร์ กล่าว

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก  สปสช. เชิญประชาชนร่วมให้ความเห็น "พัฒนาบัตรทอง 30 บาท สิทธิของคนไทย ทำอย่างไรให้ประชาชนสุขภาพดีถ้วนหน้า"  โดยสามารถให้ความคิดเห็นกรณียกระดับบัตรทอง รักษาได้ทุกรพ.

https://www.facebook.com/NHSO.Thailand/