กรมอนามัยสำรวจโรงเรียน 38,450 แห่ง ตรวจประเมินเบื้องต้น 33,597 แห่ง ส่วนใหญ่ 85.7% ผ่านการมาตรการครบทั้ง 44 ข้อ ส่วนที่เหลือ ติดขัดการเว้นระยะห่าง พร้อมจัดจิตอาสาติดตามใกล้ชิด 2 สัปดาห์แรก

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในวันที่ 1 ก.ค. เป็นวันเปิดเทอมวันแรก โดยใช้แพลตฟอร์ม “ไทยสต็อปโควิด” เพื่อประเมินความพร้อมของโรงเรียน โดยมีมาตรการทั้งหมด 44 ข้อ แบ่งเป็น มาตรการหลัก 20 ข้อ และมาตรการเสริม 24 ข้อ ทั้งนี้ มีมาตรการหลัก 20 ข้อ ที่ออกตาม 6 มิติการควบคุมป้องกันโรคหลัก คือ 1.การคัดกรองเด็กก่อนเข้าสู่พื้นที่โรงเรียน 2. การสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลา 3.จุดล้างมือ 4.การเว้นระยะห่างในห้องเรียน 5.การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ และ 6.การจัดรูปแบบการใช้พื้นที่กิจกรรมร่วมกัน

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ทั้งนี้ โรงเรียนมีทั้งหมด 38,450 แห่ง มีการตรวจประเมินเบื้องต้นแล้ว 33,597 แห่ง ในโรงเรียนทุกสังกัด โดยส่วนใหญ่ 85.7% ผ่านการมาตรการครบทั้ง 44 ข้อ ถือว่าเป็นความร่วมมือ และตรียมความพร้อม แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ผ่านมาตรการหลักข้อใดข้อหนึ่ง โดยข้อที่อาจจะเป็นข้อจำกัดอยู่ คือเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่พอเริ่มมีต้นแบบว่าจะจัดอย่างไรแล้ว หลายๆ โรงเรียนก็ถือว่าดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการจัดการบางเรื่องที่เป็นไปตามลักษณะของโรงเรียน เราจะมีการตรวจติดตามร่วมกัน ตอนนี้เรามีต้นแบบของโรงเรียนเกือบทุกขนาดอยู่แล้ว เราจะดูอย่างให้มั่นใจ แต่ไม่อยากให้กังวลใจ โรงเรียนที่ไม่ผ่านเราจะลงไปช่วยเหลือเพื่อให้เด็กได้เรียนหนังสือ ขออย่ากังวล

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทยได้มีการพูดคุยและเตรียมพร้อมมาจำนวนมาก เหลืออีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ลงไปดู ดังนั้นอย่างน้อยใน 2 สัปดาห์แรกหลังเปิดเรียน จะต้องมีการกำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคผ่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และจิตอาสาพิทักษ์อนามัยโรงเรียน ควบคู่มาตรการติดตามปกติ โดยอิงตามมาตรการหลัก 20 ข้อ โดยครูต้องบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกวัน โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ หากมีการเจ็บป่วยพร้อมกัน 5 รายขึ้นไป ต้องรายงานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขที่จับคู่กับโรงเรียนให้เข้าไปควบคุมโรคโดยเร็ว เพื่อตัดวงจรการระบาดในโรงเรียน ทั้งนี้ มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดจะดูแลโรงเรียนในพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วย

“เราจะมีการบันทึกการเจ็บป่วยของนักเรียนทุกวันว่าเป็นอย่างไรเพื่อดูแนวโน้มก่อน เช่น อยู่ๆ มีเด็กเป็นไข้หลายคน 5 คนขึ้นไป ต้องลงไปดูและสอบสวนโรคว่าใช้โควิดหรือไม่ ถ้า 1 คนเป็นโควิด ก็ต้องดูต่อว่าเป็นในกลุ่มห้องเรียนเดียว ชั้นเรียนเดียวหรือไมถ้าใช่ก็หยุดชั้นเรียนเดียวนั้นแล้วจัดการเรื่องความสะอาด ควบคุมสังเกตอาการนักเรียนทุกคนในห้องเรียนเดียวกัน แต่ถ้าใน 5 คน เป็นโควิด 2-3 คน แปลว่าการกระจายตัวของโควิดมากกว่า 1 ชั้นเรียน เรามีความจำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมป้องกันโรค จำกัดวงของโรคได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว