จิตแพทย์เตือน "ครู" สังเกตลูกศิษย์ช่วงเปิดเทอมมากขึ้น เน้นกลุ่มเปราะบาง พฤติกรรมแปลกแยก ก้าวร้าว เกเร บ่งบอกมีปัญหาปรับตัว เหตุปิดเทอมยาวนานทำขาดการปรับตัวและทักษะสังคม ขอครูลดอคติ อย่ามองเป็นเด็กไม่ดี
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการรายงานข่าวการทำร้ายตัวเองของเด็กนักเรียนและนักศึกษาต่อเนื่องรายวัน ว่า ขณะนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเร่งรีบดูแล ซึ่งไม่ได้หมายถึงการดูแลเฉพาะหลังการสูญเสียเท่านั้น แต่จะต้องคอยเฝ้าระวัง สังเกต และป้องกันด้วย อย่างไรก็ตาม เด็กที่ทำร้ายตัวเองเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น ต้องไม่ละเลยกลุ่มเพื่อนๆ ที่หลายคนมีความเปราะบางอยู่ด้วย เด็กกลุ่มนี้อาจมีความรู้สึกผิดที่อาจปกป้องเพื่อนไม่ได้ หรือสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนของตัวเอง จนกระทั่งอาจมีความเครียด ความซึมเศร้า หรือความคิดอยากจะเลียนแบบเกิดขึ้นได้เหมือนกัน จึงต้องมีทีมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด อาจมีกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้แสดงออกถึงความรู้สึก และดูแลสุขภาพจิตของกันและกัน
"กลุ่มครอบครัวของเด็กที่จากไปก็เช่นกัน มีความทุกข์ได้ในหลายรูปแบบ กรมสุขภาพจิตก็จัดทีมเข้าไปดูแลแล้ว อีกกลุ่มคือครูและบรรยากาศในโรงเรียน ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกัน อาจสงสัยหรือโทษตัวเองว่าระบบมีปัญหา ครูไปพลั้งเผลอทำอะไรที่ละเลย ไม่เข้าใจเด็ก หรือซ้ำเติมหรือไม่ มักมีคำถามลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอก้ต้องเข้าไปดูแล" พญ.อัมพรกล่าว
พญ.อัมพรกล่าวอีกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของการเปิดเทอม ซึ่งหลังจากปิดเทอมมายาวนานทำให้มีข้อสังเกตว่า พอเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เด็กที่มีความเปราะบางอยู่เดิมก็จะปรับตัวได้ยากขึ้นมากๆ เพราะเดิมทีแม้จะปรับตัวได้ยาก มีปัญหาความสัมพันธ์หรือปัญหาการเรียน แต่การอยู่ในบรรยากาศการเรียนที่ต่อเนื่องก็จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ แต่พอหยุดเรียนสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป และอยู่ในที่ที่ไม่ต้องพยายามปรับตัวมากเหมือนในอดีต และทักษะสังคมต่างๆ ก็มีโอกาสหดหายลงไป และความขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาจจะเพิ่มขึ้นไปอีก พอเปิดเทอมก็มีโอกาสปรากฏตัวปัญหาต่างๆ มากขึ้น เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ทุกคนต้องใส่ใจกันมากขึ้น ครูอาจต้องทำงานหนักขึ้น เพิ่มความละเอียดอ่อนในการสังเกตลูกศิษย์ตัวเอง
"เด็กที่เคยมีปัญหาแต่เดิม มีความสุ่มเสี่ยงแต่เดิม กลับมาเปิดเทอมครั้งนี้กำลังเผชิญกับความยุ่งยากขึ้นอีกหลายเท่า อาจต้องการความใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ ต้องการการดูแล หรือการเปิดช่องทางต่างๆ ให้เด็กเข้าถึงครู บอกเล่าปัญหาได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองก็เช่นกัน หากมีลูกที่เปราะบาง โยเยไม่อยากไปโรงเรียน มีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อน ไม่ลงตัวด้านการเรียน หรือถูกซ้ำเติมด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัว ขอให้กำลังใจพ่อแม่ในการใกล้ชิดลูกมากขึ้น รับฟัง และทำความเข้าใจ หากมีข้อสงสัยมีปัญหาอาจจะต้องขอความช่วยเหลือคำแนะนำจากบุคลากรด้านสุขภาพจิต" พญ.อัมพรกล่าว
พญ.อัมพรกล่าวว่า กรมฯ มองเห็นสถานการณ์ที่ดูมีความเข้มข้นรุนแรงขึ้น เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย เราเร่งทำความร่วมมือกับเครือข่ายมากขึ้น ทั้งโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยราชภัฏ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ก็ร่วมมือกัน เพื่อให้ช่องทางการส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กเกิดมากขึ้น กว้างขวางขึ้น สนับสนุนฝึกอบรมคนทำงานเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นมีทักษะเข้าใจเด็กและรับฟังเด็ก ให้คำแนะนำปรึกษาแก่เด็กได้ดีขึ้น และเปิดช่องทางการรักษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรามีจิตแพทยืกระจายทั่วประเทศ มีทีมสุขภาพจิตทุกจังหวัด เราเพิ่มบริการโดยเด็กมาเจอได้ด้วยตัวเอง ใช้ระบบการแพทย์ทางไกลดูแลเด็กในสถานที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ใช้การปรึกษาออนไลน์ ทางโทรศัพท์ได้ด้วย
ถามว่าอาการสังเกตที่เด็กเริ่มมีปัญหา พญ.อัมพรกล่าวว่า จริงๆ ทุกคนอยากทำหน้าที่ มีบทบาทที่ดีในสายตาทุกคน แต่คนไหนที่ทำไม่ได้ เช่น เรียนหนังสือไม่ได้ เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเด็กที่เรียนดีก็ต้องให้ความใส่ใจ , เด็กที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น ทะเลาะกับเพื่อน ไม่ว่าจะไปบูลลีคนอื่น หรือถูกบูลลีก็สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตที่มีในใจเช่นกัน หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวในครอบครัว อาจสะท้อนเรื่องการขัดแย้งกับเพื่อน เรียนหนังสือไม่ดี หรือไม่ทำตามกฎเกณฑ์ มีปัญหากับครู ถ้าเราสังเกตเด็กจะบอกได้ว่าคนไหนเป็นเด็กเปราะบางและต้องใส่ใจเป้นพิเศษ เพียงแต่บางครั้งความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรืออคติปะปน เด็กอาจถูกตัดสินว่าเหลวไหล ไม่ตั้งใจเรียน ไม่รักดี ขี้เกียจ หรือไม่รู้จักปรับตัวกับเพื่อน ไม่มีน้ำใจ ไม่เสียสละ ไม่ช่วยเหลือคนอื่น
"ทุกๆ พฤติกรรมแปลกแยก รวมถึงความก้าวร้าว เกเร เป็นสัญญาณแรกๆ ว่าเด็กเหล่านี้มีปัญหาในการปรับตัวแล้ว แต่หากเราไปตัดสินด้วยอคติว่าเป็นเด็กไม่น่ารัก นิสัยไม่ดีไป ซึ่งจริงๆ แล้วครูสามารถช่วยได้มาก หากครูสังเกตเห็น สร้างความเป็นกันเองให้เด็กไว้วางใจและบอกเล่าปัญหา โดยครูมีทักษะการฟังที่ดี จนสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นแต่ละปีมีเยอะมาก และบางคนครูสามารถเข้าถึงปัญหาลึกๆ เช่น เด็กเจ็บป่วยโรคซึมเศร้า มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือมีปัญหาครอบครัวที่รุนแรง มีครูเข้าไปช่วยเหลือเรื่องราวเหล่านี้โดยตรงและส่งต่อมาให้ทีมสุขภาพจิตเยอะมาก" พญ.อัมพรกล่าว
พญ.อัมพรกล่าวว่า ส่วนสัญญาณเตือนว่าเด็กมีความคิดทำร้ายตัวเอง คือ การเตรียมการของคนๆ นั้น อาจรวมถึงการพูดถึงความตาย ความคิดความประสงค์อยากตายบ่อยๆ มีการมอบของรักของหวงตัวเองให้คนอื่น อาจฝากให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้หากตัวเองไม่อยู่ต่อไปในโลกนี้แล้ว อาจเตรียมการ เช่น ค้นหาข้อมูลวิะการตาย หรือใส่ใจสนใจข่าวการตายของคนอื่นๆ มากเป็นพิเศษ และเตรียมอุปกรณ์ อาวุธ ยา ซึ่งคนใกล้ตัวเมื่อมาทบทวนหลังสูญเสียมักบอกว่ามีจุดสังเกตเหล่านี้ แต่บางครั้งเขาก็เผลอมองข้ามไปไม่ทันได้คิด บางคนอาจรู้สึกแวบข้นมาแล้วกลบความรู้สึกนั้นไปด้วยความกลัว เพราะไม่รู้จะจัดการเหตุการณ์นั้นอย่างไร ซึ่งหากเห็นสัญญาณเตือน วิธีที่ดีที่สุดคือพยายามสื่อสารพูดคุยกับคนๆ นั้น เปิดโอกาสให้เขาบอกเล่าความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเอง หากมีความชัดเจนหรือแนวโน้มว่ามีความคิดทำร้ายตัวเอง ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือ ควรจะจูงใจหรือชักชวนกันไปขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้
ถามต่อว่าช่วงนี้เห็นข่าวการทำร้ายร่างกายตัวเองรายวัน เป็นลักษณะของ Copycat หรือไม่ พญ.อัมพรกล่าวว่า ใช่ สถานการณ์ของ Copycat ปรากฏเสมอๆ การเลียนแบบกัน สำหรับคนรู้สึกท้อแท้และนึกถึงความตาย มีตัวอย่างวิะการตายอย่างละเอียดจะทำให้คนๆ นั้นถูกจูงใจอย่างง่ายดาย ดังนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณสื่อที่นำเสนอให้รู้ว่ามีการสูญเสีย แต่ควรสะท้อนถึงสาเหตุที่มาและวิธีการป้องกัน และต้องไม่บรรยายวิธีการทำร้ายตัวเองในรายละเอียด มิเช่นนั้นจะเป็นตัวเสริมให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม ต้องช่วยกันให้สติทุกคนในสังคม ทุกปัญหามีทางออกอยู่แล้ว อย่างแย่สุดคือเมื่อเวลาผ่านไป เวลาจะเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกเจ็บปวดของทุกคนได้
- 412 views