การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา มาตรการล็อคดาวน์จำกัดการรวมตัวของผู้คน ปิดเมือง ปิดประเทศ ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายๆ ด้าน แต่ก็ไม่สามารถทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกับ 0 ได้ การหาทางป้องกันอื่นๆ เช่นการฉีดวัคซีน และการตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจแบบเร็ว หรือ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อแยกผู้ป่วยออกมาจากสังคม ควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงแคบที่สุด ดูจะเป็นแนวทางที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการล็อกดาวน์
ล่าสุด การเปิดรีบนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ ซึ่งมีมาตรการพิเศษเช่นมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรเกิน 70 % เช่น จ.ภูเก็ต และขยายไปยังพื้นที่ต่อเนื่อง เช่นพังงา กระบี่ ซึ่วเรียกว่าพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ดูจะเป็นความหวังของการเปิดประเทศพลิกฟื้นการท่องเที่ยวหนึ่งในรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย และจากมาตรการแซนด์บ็อกซ์ รัฐบาลกำลังมีแนวคิดที่จะเปิดโรงเรีบยนให้นักเรียนกลับมาเรียนในโรงเรียอีกครั้ง หลังจากต้องเรียนออนไลน์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมาและมีปัญหามากมาย
แผนเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2/2564 แบบปกติหรือออนไซต์ในเดือนพ.ย. นี้ จะมีมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพ โดยการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนที่มีอายุ 12-18 ปีของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่ยังมีความกังวลเรื่องความพร้อมของวัคซีนและระบบการจัดการที่ทันท่วงที
นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มองว่า นอกจากการฉีดวัคซีนให้กับครูและนักเรียนแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องจัดงบประมาณในการซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ให้กับเด็กนักเรียนอย่างทั่วถึง รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่นๆ เช่น ให้มีการล้างมือในช่วงเปลี่ยนคาบการเรียน รองรับ New normal โดยเชื่อว่า ศธ. สามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศได้ภายในเดือน ต.ค. ส่วนจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กได้ถึง 80-90 % หรือไม่นั้นเป็นความสามารถในการบริหารจัดการ
ประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มองว่า การลดความแออัดในโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็น แนวทางหนึ่งที่ศธ.ควรต้องพิจารณาคือการ ยกเลิกโรงเรียนขนาดใหญ่-ใหญ่พิเศษ ให้เป็นโรงเรียนขนาดพอดี เช่น อนุบาลประจำจังหวัด จำนวนนักเรียน 4,000 คน ให้แยกบางชั้นไปเรียนในอีกโรงเรียนเพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องแออัดกัน ห้องเรียนควรมี 25คนต่อห้อง ซึ่งควรกระจายอำนาจการจัดการให้พื้นที่จัดการกันเองโดยส่วนกลางไม่ควรเข้าไปยุ่ง
นายตวงมองว่า ความท้าทายที่จะส่งผลต่อการเปิดโรวเรียนที่มองเห็นในขณะนี้คือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่เสพข่าวอย่างไม่ค่อยมีวิจารณญาณ อาจทำให้กังวลว่าการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเกิดอันตรายกับเด็ก ปัจจัยต่อมาคือการฉีดวัคซีนไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียมกัน และเมื่อเปิดเทอมแล้วการควบคุมระยะห่างภายในพื้นที่โรงเรียนนั้นจะทำอย่างไร รวมทั้งการเดินทางของเด็ก เช่นการโดยสารรถตู้รับส่ง
สำหรับมุมมองของผู้สอน นายนพดล อุณหศิริกุล ครูโรงเรียนตะกั่วป่าเสนานุกูล จังหวัดพังงา ยืนยันว่าโรงเรียนต้องการให้เด็กเรียนออนไซต์ ด้วยที่ผ่านมาการเรียนออนไลน์มีผลเสียมากกว่าผลดีเนื่องจากสภาพสังคมและการเตรียมความพร้อมด้านนี้ยังไม่พร้อมเท่าที่ควร ทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครองส่วนใหญ่อยากให้เปิดเรียนแบบปกติเร็วที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ยังกังวลเรื่องระบบการจัดการเรื่องวัคซีนและความชัดเจนต่างๆ จะล่าช้าอีกหรือไม่
“หากมีการเปิดเรียนก็ต้องมีการวางมาตรการต่างๆ ซึ่งโรงเรียนมีศักยภาพในการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้องเรียน การกำหนดรูปแบบ สถานที่หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ในส่วนของการฉีดวัคซีนนั้นมีความพร้อมมากแค่ไหน เชื่อว่าผู้ปกครองและตัวเด็กเองก็อยากฉีดทั้งนั้น แต่ยังไม่รู้ความชัดเจนในการดำเนินการอย่างไร จะมีความล่าช้าเกิดขึ้นหรือไม่”
อย่างไรก็ตามในส่วนของเด็กม.ต้น ยังมีบางส่วนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ฉีดวัคซีน ซึ่งครูนพดล มองว่า ภาครัฐควรสนับสนุนการแจก ATK ฟรีให้ทางโรงเรียนสำหรับตรวจคัดกรองร่วมกับมาตรการ DMHTT
“ตอนนี้หลายอย่างยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเปิดเรียนแบบออนไซต์อย่างเดียว สลับวัน หรือเรียนร่วมกับออนไลน์ด้วย หรือมีแนวทางการการควบคุมป้องกันอย่างไรบ้างนอกเหนือจากการฉีดวัคซีน และการดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่งหากมีความชัดเจนโดยเร็วจะช่วยให้มีการเตรียมความพร้อมได้ดีขึ้นสำหรับการวางมาตรการต่างๆของโรงเรียน”
ด้านมุมของผู้ปกครอง มรกต กอวณิชกุล จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเห็นว่าต้องการให้มีการเปิดเรียนแบบออนไซต์เช่นกัน เนื่องจากลูกๆ เรียนสายวิทย์ ต้องทำการทดลอง การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กไม่ได้ทำโครงงานเรียนได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะคนเล็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อม.3 จะเข้าม.4 การไม่ได้ไปโรงเรียนทำให้ไม่มีพอร์ตติดตัวจากการทำโครงงานหรือการสอบวิชาการต่างๆ เพื่อไปยื่นเข้าโรงเรียนในระดับม.ปลาย ทำให้กลุ่มนี้จะเครียดมากกว่าชั้นทั่วไป นอกจากนี้จะมีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กโตด้วยและเชื่อว่าแต่ละโรงเรียนก็มีมาตรการอยู่แล้ว
“สำหรับเด็กหอ เช่น ลูกคนโตที่เป็นเด็กโครงการอาจใช้วิธี Bubble and Seal คือเข้าแล้วก็ไม่ให้ออก ส่วนนักเรียนไปกลับคงต้องสลับออนไลน์ ออนไซต์ เชื่อว่าแต่ละโรงเรียนมีมาตรการอยู่แล้วในการคัดกรองและป้องกันอยู่แล้ว อย่างที่อังกฤษซึ่งครอบครัวพี่ชายอยู่ที่นั่น เด็กๆก็ไปโรงเรียนกันปกติ ติดก็รักษา แต่ก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าประชาชนที่นั่นได้รับวัคซีนกันเยอะ เพราะฉะนั้นวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ”
ขณะที่ จันทิพา ทิพาทรัพย์ ผู้ปกครองในจังหวัดภูเก็ตเชื่อว่าการเปิดเรียนในระดับมัธยมไม่น่ามีปัญหาเพราะสามารถฉีดวัคซีนได้แล้วและโตพอที่จะป้องกันตัวเองได้แล้วในระดับหนึ่ง อาจจะมีมาตรการการคัดกรองเรื่องการตรวจเชื้อภายในกี่วันตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามยังไม่อยากให้เปิดเรียนแบบปกติในส่วนของเล็กหรือประถม เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนและมีความเสี่ยงเกี่ยวกับโอกาสติดเชื้อโดยเฉพาะอนุบาลเพราะเด็กยังไม่รู้จักการระมัดระวังที่ดีพอ บางครั้งเผลอเอามือเข้าปากจับโน่นจับนี่หากไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หรือหากต้องสลับกันไปเรียนในเด็กเล็กก็เรียนได้ไม่เต็มที่
จันทิพา ซึ่งหายจากการติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วยังมองว่าโรคนี้ไม่น่าจะหายไปง่ายๆ ควรจะต้องปรับตัวให้อยู่กับมันให้ได้เหมือนกับการอยู่กับโรคไข้หวัดใหญ่มาแล้ว โดยฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและกลับมาใช้ชีวิตปกติในวิถีใหม่ พร้อมกับการเปิดประเทศให้ได้ทำมาหากิน เพราะถึงอย่างไรก็ต้องอยู่กับโรคนี้ให้ได้
“หลายๆ ประเทศก็ยังมีการติดเชื้ออยู่ทำไมเขายังอยู่ได้ ถ้าเราฉีดวัคซีนกันหมด ทำไมเขาจะไม่กล้ามาเที่ยวที่เปิดบางส่วนตอนนี้แบบแซนด์บ็อกมีข้อจำกัดมากมาย ได้เฉพาะโรงแรมใหญ่ๆ แต่สภาพเมืองก็ยังร้างอยู่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาทำไม เพราะเงื่อนไขมันไม่เอื้อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมา” เจ้าของธุรกิจแลกเงิน กล่าว
สุมิตร วอพะพอ ผู้จัดการโครงการสถานะบุคคลองค์กรแปลน ให้มุมมองด้านสังคมว่า การฉีดวัคซีนให้นักเรียนนั้นยังไม่มีแนวทาง มีกรอบเวลาให้เห็นชัดว่าจะทำเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะแม้แต่ครูในสังกัดสพฐ.เองก็ยังได้รับวัคซีนไม่ครบทุกคน หากยังไม่ดำเนินการความเสี่ยงที่เด็กจะติดโควิดวันนี้ก็สูง
ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับบุคคลผู้ไร้สถานะ หรือไร้สัญชาติ สุมิตรมองว่า การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มไร้สัญชาติก็เป็นประเด็นสำคัญ แต่จะทำอย่างไร ใครจะเป็นคนทำ ใครจะเป็นผู้มาสำรวจข้อมูลแล้วลงทะเบียน การเข้าถึงวัคซีนของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ก็ยังไม่ทั่วถึง
"กลุ่มเปราะบางอย่างเด็กที่ไม่มีเลข 13 หลัก เข้าไม่ถึงการศึกษา คนพิการไร้สัญชาติ ผู้ป่วยติดเตียงไร้รัฐ เข้าถึงวัคซีนลำบากจะเข้าถึงอย่างไร ควรทำให้กลุ่มนี้ได้รับการเยียวยาด้วยเช่นกัน"นายสุมิตร กล่าว
บทเรียนการจัดการวัคซีนสำหรับพื้นที่ซึ่เตรียมจะเปิดแซนด์บ็อกสำหรับท่อวเที่ยว นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ตั้งคำถามกับการบริหารจัดการวัคซีนเป็นประเด็นหลัก เพราะปัจจุบัน การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป บวกโรคเรื่องรัง 7 โรค และสตรีมีครรภ์ ในพื้นที่ก็ฌยังไม่เข้าเป้า แต่ขณะนี้กำลังจะขยายลงมายังกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปโดยที่ยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนที่จะฉีดให้เด็กนั้นปลอดภัยหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่ากังวล
"ถ้าเด็กไม่ฉีดวัคซีนเมื่อเปิดเทอมก็ต้อง ATK แล้วนั่งรอ15นาทีก่อนเข้าเรียนทุกวัน มันก็เหมือนเป็นการบังคับกลายๆ การฉีดวัคซีนในเด็กอาจจะทำให้ภูมิขึ้น แต่โอกาสติดเชื้อโควิดก็ยังมีอยู่แต่ไม่รุนแรง ลึกๆ แล้วผมอยากเห็นผลการศึกษาการฉีดวัคซีนในเด็กแล้วมีผลกระทบอย่างไรบ้าง"
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ.เชียงใหม่มองว่า การจะเปิดเมืองเพื่อการท่องเที่ยวนั้นต้องเอาประชาชนเป็นต้นทาง ถ้ายังไม่พร้อมจะขยับไปอีก 1-2 เดือนก็ได้ ประชาชนเองก็อาจจะมีเงินแต่ไม่อยากฉีด หรือไม่มีเงินแต่อยากฉีด อยู่ห่างไกลตามไร่นาไม่เกี่ยวกับใคร การท่องเที่ยวถ้าจะเปิดชุมชนต้องเอาด้วย โดยผู้ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปต้องปูพรมฉีด 100 % ประชาชนใน อ.เมืองเชียงใหม่ ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว 82.99 % เข็ม 2 เกือบ 70 % ส่วนใน Blue Zone ที่มีแคมเปญแซนด์บ๊อกซ์ มีผู้ได้รับวัคซีนเกิน70 % แล้ว และขณะพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวได้เลย แต่สำหรับนักเรียนนั้นต่างออกไป เพราะหากไม่มีข้อมูลผลกระทบต่อเด็กเพียงพอ หากต้องสูญเสียลูกจากการฉีดวัคซีนจะเป็นเรื่องวที่ส่งผลกระทบอย่างมาก
เช่นเดียวกับ นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตั้งคำถามว่าโรงเรียนจะกลับมาเปิดด้วยเงื่อนไขอะไรเพื่อไม่ให้วงจรการแพร่ระบาดเกิดขึ้น ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือ วัคซีนเด็ก ถึงตอนนี้มีความพร้อมและความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเปิดโรงเรียนหรือเปิดอะไรก็ตาม ทุกคนรู้ว่าวัคซีนคือปัจจัยสำคัญ วัคซีนอาจจะไม่ใช่มาตรการเดียว แต่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง และต้องรู้ว่าวัคซีนมาเมื่อไหร่ชัดเจน
นี่คือเสียงสะท้อนจากฝ่ายต่างๆ ต่อนโยบายเปิดโรงเรียน ทีกำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
- 48 views