กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมเปิดเทอม 1 ก.ค. ขอความร่วมมือทุกส่วน 6 ประเด็น เผยข้อมูลเด็กไทยติดเชื้อ 3.8% อาจเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ำเปิดเรียนก่อน ส่วนพื้นที่เสี่ยงสูงอาจเหลื่อมชั้นเรียน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน ว่า การเลื่อนเปิดเทอมเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ส่วนไทยเลื่อนไปวันที่ 1 ก.ค. ทั้งนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมีเด็กติดเชื้อเยอะ เช่น ไทยพบเด็กอายุ 10-19 ปี ติดเชื้อฯ 3.81% โดยติดจากครอบครัว ที่สำคัญคือเด็กจะมีอาการไม่มาก มักคล้ายโรคประจำตัวที่พบในเด็กคือไข้หวัด ดังนั้นเมื่อเด็กติดเชื้ออาจจะเสี่ยงเอาไปติดเพื่อนที่โรงเรียน ทั่วโลกจึงกังวล โดยเฉพาะโรงเรียนใหญ่ที่มาจากหลายครอบครัว ซึ่งไม่รู้ว่าแต่ละครอบครัวไปที่ไหน หรือมีความเสี่ยงอย่างไร

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การให้เด็กที่เราไม่รู้ว่ามาจากครอบครัวที่มีความเสี่ยงอย่างไรอยู่รวมกันเป็นวันจึงมีความเสี่ยงนำเชื้อมาติดเพื่อที่โรงเรียนได้ ซึ่งต่างจากการไปห้างสรรพสินค้าที่อาจจะใช้เวลาราวๆ 2 ชั่วโมง ดังนั้นก่อนเปิดเทอมจึงต้องเตรียมมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่เข้มข้น เพื่อให้มั่นใจถึงความพร้อมของโรงเรียน ครู บุคลากร ที่ต้องพร้อมในการป้องกันตัวเอง และลูกศิษย์ โดยมี 6 ประเด็นคือ 1.ออกแบบการคัดกรองนักเรียน บุคลากรที่จะเข้าพื้นที่โรงเรียน ควบคู่กับการสอบสวนประวัติความเสี่ยง เช่น การเดินทางไปจังหวัดเสี่ยงหรือไม่ 2.สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นความท้าทายมากในกลุ่มเด็ก

3.จุดล้างมือด้วยน้ำ สบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ต้องทำทันทีเมื่อเข้าพื้นที่โรงเรียน ชั้นเรียน จุดต่างๆ 4.เว้นระยะห่างในห้องเรียน ควรจัดเด็กเป็นกลุ่มย่อยเล็ก แล้วให้เรียนรวมถึงการทำกิจกรรมในโรงเรียน เพราะหากเกิดการติดเชื้อจะติดตามได้รวดเร็ว 5.ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส ทุกวัน สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เช่น สนามเด็กเล่น ก็ควรทำกลุ่มย่อยออกมาใช้งาน ให้ทำความสะอาดมือทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนกิจกรรม เปลี่ยนกลุ่มเข้ามาใช้งาน และ 6. ลดความแออัด ไม่มีกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน

“ความสำเร็จในการควบคุมโรคที่ผ่านมา เพราะทุกคนช่วยกัน ดังนั้น ตอนนี้ผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือ หากเด็กป่วย ไข้ ไอจาม ต้องให้หยุดอยู่บ้าน และไปหาหมอ หากมีข้อไหนที่ไม่มีมั่นใจต้องสื่อสารระหว่างผู้ปกครอง และโรงเรียน แล้วประสานทีมแพทย์เข้าไปดูแล นอกจากนี้ความเอื้อเฟื้อของชุมชนก็มีความจำเป็นมาก ส่วนมาตรการควบคุมป้องกันโรคเรามีงานอนามัยโรงเรียนที่ทำงานร่วมกันมาตลอด ก็จะสื่อสาร ทำความเข้าใจเพื่อการดูแลเด็กๆ อย่างเข้มข้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว และว่ายังต้องหาแนวทางสำหรับโรงเรียนประจำด้วย

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า ส่วนสถานรับเลี้ยงเด็กมาตรการควบคุมป้องกันโรคหลักๆ เหมือนกันแตกวิธีปฏิบัติอาจจะต่างกัน เพราะด้วยอายุที่น้อย กิจกรรมก็จะต่างกัน อาจจะเปลี่ยนมาดูแลกลุ่มย่อยๆ 5-6 คน ตอนนี้มีการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบว่าจะเปิดได้เมื่อไหร่ เพราะยิ่งเด็กเล็กอาการยิ่งน้อย แต่เราเข้าใจว่าการดูแลเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้พ่อแม่ได้กลับไปทำงานสะดวก โดยเฉพาะตอนนี้ประเทศไทยมีการผ่อนปรนให้เปิดกิจการ/กิจกรรมมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื่องจากตอนนี้มีจังหวัดปลอดโรคมาเป็นเดือน และจังหวัดที่ยังพบผู้ป่วยอยู่มาตรการต่างยังดำเนินการเหมือนกันเลยหรือไม่ พญ. พรรณพิมล กล่าวว่า โดยมาตรการต่างๆ ที่วางไว้ต้องทำเหมือนกันทั้งหมดเพื่อเป็นการควบคุมป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ศบค.และกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข มีการศึกษาโมเดลการเปิดภาคเรียนของหลายๆ ประเทศ ในส่วนจองจังหวัดที่ปลอดโรคมานาน เช่น 28 วันถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ น่าจะสามารถเปิดเรียนได้ทุกชั้นเรียน และทุกโรงเรียน ส่วนพื้นที่ที่ยังเสี่ยงสูงก็อาจเปิดเรียนโดยแบ่งว่าชั้นไหนจะเรียนเวลาไหน หรือบางส่วนเรียนออนไลน์ เป็นต้น เพื่อลดจำนวนคน เรื่องนี้ทางกระทรวงศึกษาฯ และ ศบค.เป็นคนพิจารณา.