กรมอนามัย ย้อนเหตุภัยฉุกเฉินปี 67 รวม 724 ครั้ง ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่นละออง PM2.5 และอื่นๆ และโรงงานสารเคมีรั่วไหล ระเบิด เพลิงไหม้ ฯลฯอีก 65 ครั้ง คาดแนวโน้มอาจรุนแรงเพิ่ม ย้ำมาตรการเตรียมพร้อมรับมือ พร้อมออกคำแนะนำให้เจ้าหน้าที่และประชาชน
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของประเทศไทยในปี 2567 ผลการดำเนินงานปฏิบัติภารกิจของทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ศูนย์อนามัยทั่วประเทศ พบว่าเกิดภัยฉุกเฉินทั้งหมด จำนวน 724 ครั้ง ประกอบด้วย อุทกภัย ภัยร้อน ภัยแล้ง ภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และภัยพิบัติอื่น ๆ โดยเกิดสถานการณ์โรงงานสารเคมีรั่วไหล ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ จำนวน 65 ครั้ง ได้แก่ เหตุโรงงานผลิตพลุระเบิด เหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี เหตุสารเคมีรั่วไหล เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มเกิดสถานการณ์และความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ข้อแนะนำแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
กรมอนามัย มีความกังวลถึงสุขภาพประชาชนและเจ้าหน้าที่ จึงมีข้อแนะนำแนวทางปฏิบัติในการป้องกันสารมลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีภาวะฉุกเฉินจากสารเคมีรั่วไหล ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ สำหรับเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
1) เตรียมทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ปฏิบัติภารกิจรองรับภาวะฉุกเฉินในระดับพื้นที่
2) จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ทราบพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์
3) ท้องถิ่น ควบคุม กำกับ สถานประกอบการหรือสถานที่พื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินการตรวจสอบ จัดการด้านสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานตามกฎหมาย
4) สื่อสารสร้างความรอบรู้ให้คำแนะนำการปฏิบัติตน ป้องกัน ลดผลกระทบต่อสุขภาพแก่ประชาชน เช่น การสวมหน้ากากป้องกันสารเคมี เป็นต้น
ข้อปฏิบัติตนของประชาชน ลดความเสี่ยงสุขภาพ
พญ.อัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนสามารถปฏิบัติตน ลดความเสี่ยงทางสุขภาพดังนี้
1) ติดตามข่าวสาร สถานการณ์การแจ้งเตือนภัยสุขภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
2) หมั่นสังเกตความผิดปกติของโรงงานเสี่ยงใกล้บ้าน หากมีความผิดปกติ รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาดำเนินการระงับเหตุทันที
3) กรณีเกิดเหตุโรงงานสารเคมีรั่วไหล ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ หรือมีการแจ้งเตือนอพยพ ให้รีบอพยพออกจาก
พื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบไปอยู่ในที่ปลอดภัยทันที
4) ดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางภายในบ้าน สำหรับประชาชนในพื้นที่โรงงาน ขอให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำด้านสุขภาพจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ และหากได้รับผลกระทบ ขอให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่และไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที
“ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ภัยฉุกเฉินจากโรงงานสารเคมีรั่วไหล ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ ซ้ำได้อีกในอนาคต กรมอนามัย มีข้อแนะนำสำหรับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการประเมินความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงประกอบกิจการในชุมชน ตรวจสอบด้านสุขลักษณะการประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย และมาตรการควบคุมป้องกันภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากโรงงาน เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 185 views