รมช.สาธารณสุข มอบกรมอนามัย MOU 3 กระทรวง เดินหน้าทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อม หารือ มท.ออกระเบียบให้ท้องถิ่นตรวจวัดคุณภาพ “ประปาหมู่บ้าน” ปีละ 2 ครั้ง พร้อมหารือ ก.อุตสาหกรรม ปรับโทษโรงงานปล่อยน้ำเสียจาก 2 แสนบาทให้สูงขึ้นและมีโทษอาญา อาจถึงขั้นปิดโรงงาน นำร่อง MOU จ.สงขลา 25 พ.ย. ก่อนขยายระดับประเทศ
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างการตรวจเยี่ยมกรมอนามัย พร้อมมอบนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ว่า จริงๆ กรมอนามัย ถือว่าสำคัญที่สุดของไทย เพราะต้องดูแลสุขภาพคนไทย ตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนโตและเสียชีวิต รวมไปถึงเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากไม่เหมือนอดีต เนื่องจากทุกวันนี้อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก ทั้งต่างประเทศ ในประเทศ ต่างจังหวัดมีหมด มีทั้งถูกต้องตามมาตรฐานและไม่ถูกต้อง จึงต้องมาทบทวนกันทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยตนจะเน้นสิ่งแวดล้อมเป็นหลักด้วย ทั้งเสริมสร้างควบคู่การซ่อมแซม
“วันนี้เราเน้นซ่อมแซม แต่อนาคตต้องเสริมสร้างด้วย อย่างสิ่งแวดล้อมที่เสียไป ต้องกู้คืน ผมขอใช้คำว่า ‘ทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อม’ ที่พูดคำว่าเอกราช เพราะอยากให้คนไทยทั้งประเทศเห็นความสำคัญ เราเน้นแต่เอกราชเหนือดินแดน บางทีเราซื้อาวุธยุทโธปกรณ์ปีละหมื่นล้านบาท แต่คนไทยไม่เคยตายด้วยสงคราม แต่ตายด้วยสุขภาพ จึงอยากให้ทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อมกลับคืน ลงทุนไม่มาก จิตสำนึกเป็นสำคัญ” นายเดชอิศม์ กล่าว
ชงตรวจคุณภาพ “ประปาหมู่บ้าน”
รมช.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จะลงนามข้อตกลง ทำ MOU ร่วมกันกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง คือ 1. MOU dy[กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ทวงคืนทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนให้เร็วที่สุด ทั้งป่าไม้ แม่น้ำลำธาร และ 2. MOU กับกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีประปาหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ซึ่งต้องออกกฎออกระเบียบออกมาให้ได้ว่า เมื่อมีประปาหมู่บ้าน ต้องมีการวัดคุณภาพน้ำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยตั้งงบประมาณต่อที่เพียงปีละ 1 หมื่นบาท ให้กรมอนามัยตรวจเช็กคุณภาพน้ำ และ 3.ลงนามข้อตกลงกับกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมเต็มไปหมด ก็ดีใจเป็นความเจริญ แต่แม่น้ำลำคลองน้ำเสียหมด ระบบนิเวศถูกทำลาย เมื่อนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภค และเมื่อมีสารพิษ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพประชาชน
“กรมอนามัยดูแลกรมเดียวไม่อยู่ ใช้งบประมาณเป็นแสนล้านบาทก็ไม่อยู่ จึงต้องเริ่มดำเนินการป้องกันตั้งแต่วันนี้ ไม่เช่นนั้นอนาคตสุขภาพคนไทยจะแย่มาก” นายเดชอิศม์ กล่าว
เพิ่มโทษโรงงานปล่อยน้ำเสีย
เมื่อถามว่าจะมีการหารือร่วมกระทรวงอุตสาหกรรมในการปรับโทษโรงงานปล่อยน้ำเสียผิดกฎหมาย นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ได้หารือนอกรอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการปรับปรุงกฎหมายใหม่ อย่างโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง ความเสียหายเกิดกับชีวิตคนไทย ประเมินค่าไม่ได้ แต่โทษปรับแค่ 2 แสนบาท แบบนี้ทุกคนละเลยได้ เพราะอยากได้กำไร แต่ไม่อยากเพิ่มทุนสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ปล่อยน้ำเสีย แบบนี้ต้องแก้กฎหมายใหม่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรับปากจะนำไปพิจารณา คาดว่าน่าจะดำเนินการหลัง MOU
เมื่อถามว่าต้องมีบทลงโทษมากแค่ไหน นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตนอยากให้มีโทษทางอาญา และถึงขั้นต้องปิดโรงงานด้วย เพราะไม่อยากให้ชีวิตคนไทยไปเดิมพันกับผู้ประกอบการที่ไม่มีจิตสำนึก
เมื่อถามว่าที่ผ่านมามีการสำรวจประปาหมู่บ้านหรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เพราะผู้บริหารท้องถิ่นศักยภาพไม่เท่ากัน แต่ต่อไปถ้ามี MOU ก็ต้องตั้งงบประมาณเพื่อเช็กคุณภาพน้ำ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งหลังจากเอ็มโอยู ทุกคนต้องไปทำการบ้านหมด
นำร่อง MOU จ.สงขลา 25 พ.ย. ก่อนขยายระดับประเทศ
“เบื้องต้นในระดับภูมิภาคจะเริ่มที่ จ.สงขลาก่อน และค่อยระดับประเทศ ที่กรุงเทพฯ อาจเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อย่างไรก็ตาม MOU สงขลาจะเริ่มวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ โดยเริ่มจากระดับจังหวัด เชิญตัวแทนเกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนอุตสาหกรรม ประปาหมู่บ้าน ฝ่ายท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นต้นมาร่วมกันทั้งหมด” รมช.สาธารณสุขกล่าว
นายเดชดิศม์ กล่าวว่า ที่จ.สงขลา มีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะมาก อย่างแม่น้ำหนึ่งเรียกว่า คลองภูมี สมัยก่อนปู่ย่าตายาย ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเยอะมาก สามารถกินน้ำจากคลองได้ แต่วันนี้ใช้ไม่ได้ ลงคลองไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมเลยยึดและไล่บ่อดูดทรายออก ทุกวันนี้เด็กเล่นน้ำได้ ส่วนใหญ่โรงงานดีๆ ก็มีเยอะ แต่โรงงานไม่ดี มีไม่กี่โรง แต่ทำให้เสียหาย ซึ่งเชื่อว่าหลังจาก MOU ก็จะช่วยได้มาก เอาคลองสะอาด ให้ลูกหลานว่ายน้ำได้
เมื่อถามว่ากรมอนามัยมีการสำรวจสุขภาพของประชาชนจากผลกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อม และน้ำที่ไม่ได้คุณภาพ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตัวเลขยังไม่ชัดเจน แต่ดูจากที่จังหวัดของตนก็มีคนป่วยเพิ่ม ป่วยมะเร็งก็เพิ่ม ตายด้วยโรคมะเร็งภาพรวมของประเทศนี่วันละ 200 กว่าคน แนวโน้มจะเพิ่มอีก ส่วนใหญ่ก็คิดว่าน่าจะมาจากสิ่งแวดล้อมด้วย
กำชับกรมอนามัยเน้นให้ความรู้สร้างความเข้าใจ
ถามกรณีกรมอนามัย ต้องปรับระเบียบอะไรให้สอดคล้องกันด้วยหรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า กรมอนามัย จะเป็นเรื่องการให้ความรู้ เท่าที่ดูทำถูกต้องแล้ว เพียงแต่ประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องสุขอนามัย ยกตัวอย่าง ความเข้าใจโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เอ็นซีดี) พ่อแม่กินอย่างไร ลูกกินแบบนั้น ออกกำลังกายคิดว่าไม่สำคัญ ค่อยออกกำลังกายพรุ่งนี้ สุดท้ายป่วยเป็นโรคเอ็นซีดี ซึ่งเป็นโรคที่ทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศด้วย ปีละประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ถ้าลดโรคเอ็นซีดีได้ครึ่งหนึ่ง ประเทศจะไปไกลมาก สิ่งสำคัญให้ความรู้ ความเข้าใจ
- 22 views