กรมอนามัย ห่วงเด็กไทยอ้วน ส่งผลเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ในเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ เร่งจัดทำแผนขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เพื่อหยุดวิกฤตโรคอ้วนในเด็ก ช่วยให้เด็กไทยมีร่างกายจิตใจที่แข็งแรง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพดีในอนาคต
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนในเด็ก” ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี ว่า โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs การป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนในเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข และทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขคือ “ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง” โดยมีนโยบายสำคัญ ได้แก่ นโยบายคนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ โดยส่งเสริมสุขภาพทุกมิติเพื่อลดทุกอัตราการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งสอดคล้องกับการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนในเด็ก
“ทั้งนี้ กรมอนามัยมีนโยบายสำคัญสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข คือ นโยบายส่งเสริมสุขภาพประชาชนลด NCDs ซึ่งการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนในเด็ก มีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการเกิดโรค NCDs ในวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงาน และมีการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กอ้วนในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนงานร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน เพราะผลกระทบของโรคอ้วนต่อสุขภาพเด็กเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการป้องกันและแก้ไข เพื่อให้เด็กมีร่างกายจิตใจที่แข็งแรง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพดีในอนาคต” พญ.อัมพร กล่าว
ด้าน ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอ้วนเป็นปัญหาสำคัญของทุกช่วงวัย วัยเด็กนับเป็นช่วงสำคัญในการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายต้องเร่งขับเคลื่อน เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย และบรูไน
จากการคาดการณ์ของสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ในปี 2573 จะมีเด็กอ้วนทั่วโลกมากถึง 1 ใน 3 โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งจากรายงานการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กของประเทศไทย ระหว่างปี 2557 - ปี 2567 พบแนวโน้มเด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบว่าเด็กอายุ 0 - 5 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 8.84 และเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 13.21
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี มีเริ่มอ้วนและอ้วนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 13.84 เป็นร้อยละ 13.46 แต่ยังคงเกินเป้าหมายระดับชาติที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกินร้อยละ 11.5
“ทั้งนี้ ปี 2567 สถานการณ์ของประเทศไทยล่าสุด พบว่าเด็กวัยเรียนในช่วงอายุ 6-14 ปีมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 546,434 คน เด็กวัยรุ่นในช่วงอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 230,027 คน หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในอนาคต กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานนสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันป้องกันและควบคุมปัญหาโรคอ้วนในเด็ก" ดร.นพ.ปองพล กล่าว
- 277 views