เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ปัจจุบันไทยจะมีวัคซีนมาใช้ เรามี 3 ทางเลือก คือ 1. วิจัยพัฒนาเอง โดยหาตัวเชื้อและผลิตทดลองในสัตว์ ในคน จนมีโรงงานผลิต 2.จากต่างประเทศที่ผลิตวัคซีนแล้ว และไทยไปร่วมมือกับประเทศนั้นๆ ในการวิจัยพัฒนา และ3. ไม่ต้องทำอะไร รอซื้ออย่างเดียว ซึ่งทางเลือกข้อนี้จะเจอปัญหา เพราะประเทศที่ผลิตเองได้ เขาจะฉีดให้ประเทศของเขาก่อน ยังไม่รวมราคาที่แพงอีกแน่นอน
“ดังนั้น ทางเลือกเราเราต้องทำวิจัยพัฒนาเอง และต้องร่วมมือกับประเทศที่เขามีการผลิตอยู่แล้ว ส่วนทางเลือกในการผลิตวัคซีนเอง เราได้ร่วมกันพัฒนาหลากหลายหน่วยงาน และเรามีวัคซีนต้นแบบขึ้นแล้ว โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล” นพ.โอภาส กล่าว
ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ณ วันนี้ มหาวิทยาลัยที่ดำเนินการในการทดลองวิจัยพัฒนาวัคซีน ที่ทำการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว มีจุฬาฯ ทำการฉีดในสัตว์ทดลองแล้ว 2 ครั้ง โดยล่าสุดได้เจาะเลือดซีรั่มของหนูออกมา และส่งมาให้สถาบบันชีววัตถุ มาตรวจระดับภูมิคุ้มกันว่าขึ้นเท่าไหร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอให้ทางกรมฯ เพิ่มจำนวนไวรัสให้มากพอ เพื่อมหิดล จะนำไปฆ่าเชื้อให้เป็นวัคซีนเชื้อตาย และนำมาให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจระดับภูมิคุ้มกัน
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนนั้น ในส่วนของต่างประเทศ มีหลายประเทศมีความก้าวหน้า ทั้งจีน สหรัฐ และอังกฤษ ซึ่งทดสอบในสัตว์และในคนแล้ว ปัจจุบันมี 6 ชนิดที่เริ่มทดลอง สำหรับประเทศไทย เราร่วมกันหลายภาพส่วน ทั้งคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ อย่างการทดลองในห้องปฏิบัติการ จะเป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ บ.ไบโอเนทร่วมวิจัยในสัตว์ทดลอง
นพ.นคร กล่าวอีกว่า แน่นอนว่าอนาคตการใช้วัคซีนของไทย จะต้องทำควบคู่กัน ทั้งความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีการวิจัยวัคซีน และจะมีการทดสอบในมนุษย์ แต่ไทยเองก็ต้องพึ่งพาตัวเองในการวิจัยพัฒนาด้วย ที่ผ่านมาจึงมีการวางกลยุทธ์ดังนี้ 1. การนำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดสอบในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมี 6 ชนิด เป็นข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประเทศไทย และ2.พัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำเอง เป็นการพึ่งพาตัวเอง เพราะเราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เนื่องจากภาวการณ์ระบาดเช่นนี้ เราไม่สามารถรอจนประชากรมีภูมิต้านทานเอง ซึ่งหากรอต้องรอจนประชากรมากกว่า 60% ต้องติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งนานเกินไป
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีโอกาสที่ไทยจะได้เข้าร่วมการทดลองวัคซีนของทางจีน นพ.นคร กล่าวว่า ล่าสุดวัคซีนสัญชาติจีน มีความก้าวหน้าโดยขณะนี้ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 เพื่อดูว่าวัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ ส่วนไทยจะมีโอกาสเข้าร่วมกับจีนหรือไม่ โดยเฉพาะการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 นั้น ต้องยอกว่า มี เพราะเราได้ประสานกับทางจีนอยู่ มีการติดต่อกับสถานทูตจีนผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร็นซ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำเอ็มโอยูร่วมกัน เมื่อได้เอ็มโอยูแล้วก็จะเข้าสู่การทดสอบร่วมกันกับจีน อันนี้จะเป็นอีกขั้นหนึ่ง นอกเหนือจากการวิจัยภายในประเทศเราเอง
ภาพจาก xinhuatha
- 26 views