คณบดีศิริราชพยาบาล เผยเหตุผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะอะไรต้องฉีด และทำอย่างไรให้โควิดหายไป พร้อมย้ำวัคซีนแอสตราฯ – ซิโนแวต ที่เข้าไทย ก.พ.นี้ มีประสิทธิภาพเพียงพอ และปลอดภัย หากมีผลข้างเคียงไม่รุนแรง
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงประเด็นวัคซีนที่คนไทยต้องรู้ ว่า
ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจประโยชน์สูงสุดของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อน โดยขออธิบายดังนี้ กรณีหากเรามีคนอยู่ 20 คนซึ่งเป็นคนทั่วไป ยังไม่มีการติดเชื้อโรค โดยในกลุ่มนี้มีคนจำนวนหนึ่งใส่หน้ากากอนามัย และหลังจากนั้นมีการติดเชื้อดควิดในคนจำนวนหนึ่ง และมีส่วนหนึ่งรุนแรง จนบางคนเสียชีวิต แต่คนที่สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ปลอดเชื้อ อย่างไรก็ตาม โดยเชื้อไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศ ไม่มีอะไรห่อหุ้มก็หาย แต่หากมีสิ่งห่อหุ้ม เช่นน้ำลาย ก็จะอยู่เป็นชั่วโมง แต่เพิ่มจำนวนไม่ได้ ยกเว้นเข้าไปในสิ่งมีชีวิตจะเพิ่มจำนวนได้
ถัดจากนั้นกรณีมีคนเสียชีวิตไป 2 คนจาก 20 คน ก็จะเหลือ 18 คน โดยคนที่ติดเชื้อ เมื่อไม่เสียชีวิตโดยธรรมชาติของโควิด19 ร่างกายของคนนั้นจะสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่มีในสัปดาห์ที่ 2 ภูมิคุ้มกันจะสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ โดยจากผู้ติดเชื้อสีแดง กลายมาเป็นภาพสีน้ำเงิน คือ เริ่มมีภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 ส่วนคนที่ป้องกันตนเอง แต่มีบางส่วน ไม่ระวังตัวเองก็จะติดเชื้อเพิ่ม และสมมติมี 1 คนเสียชีวิตอีก ดังนั้น จำนวนคนติดเชื้อก็เพิ่มขึ้น คนที่ติดเชื้อถ้าไม่เสียชีวิตคนก็จะมีภูมิคุ้มกันโรค ดังนั้น สุดท้ายก็จะมีคนที่มีภูมิฯมากขึ้นในชุมชนแห่งนี้ แต่ที่สำคัญคนในชุมชนนี้หายไป 3 คนเพราะเสียชีวิต เป็นการแลกมาซึ่งภูมิคุ้มกันโรค แต่ต้องมีคนเสียชีวิต
มีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ 15 คนมีภูมิคุ้มกัน และมี 5 คนไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยมี 1 คนป้องกันโรค อีก 4 คนไม่ระวังตัวเอง และวันไม่ดีคืนไม่ดี ไวรัสเข้ามา โดยเข้าไปใน 15 คนไม่ได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ไวรัสที่ลอยในอากาศก็เข้าไปในคนไม่มีภูมิ ซึ่งไม่ระวังตัวเองก็กลายเป็นคนติดเชื้อ โชคร้าย 1 ใน 4 คนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในชุมชนนี้จาก 20 คนจะเหลือ 19 คน เพราะเสียชีวิตไป 1 คน แต่ที่เหลือมีภูมิคุ้มกันหมด ทันทีที่มีภูมิฯ ไวรัสก็จะเข้าร่างกายคนมีภูมิฯไม่ได้ และจะสลายไปเอง จึงมีการพูดกันว่า หากสัดส่วนคนมีภูมิคุ้มกันสูงมากพอในพื้นที่นั้นๆ ไวรัสจะหายไป แต่โควิด-19 ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน เพราะไวรัสยังใหม่ แต่บางโรค เช่นโรคหัด ต้องมีสัดส่วนของคนมีภูมิคุ้มกันโรคหัดถึง 95% หัดจะหายไปในประเทศนั้น ซึ่งโอกาสน้อยจึงยังต้องมีการฉีดวัคซีนตลอด ส่วนโปลิโอต้องมีสัดส่วน 80% ของคนในประเทศนั้น ซึ่งปัจจุบันพบน้อย
ดังนั้น การจะมีภูมิฯ มี 2 วิธีคือ 1. ภูมิคุ้มกันเกิดจากคนติดเชื้อ แต่สิ่งที่แลกมาอาจต้องแลกมาด้วยชีวิต และ2. การมีภูมิฯ ด้วยการฉีดวัคซีน หลักการเดียวกัน ซึ่งหากฉีดจนมีจำนวนมากพอ โดยตัวเลขคาดการณ์คือต้อง 70% แต่ยังไม่มีตัวเลขแน่นอน ซึ่งหากเป็นไปได้ 60-70% ของในประเทศหากมีภูมิฯ ไวรัสก็จะหายไป ส่วนจะเลิกใส่หน้ากากอนามัยต้องรอให้ไวรัสหายไปอย่างแท้จริง เพราะแม้มีการฉีดวัคซีน แต่ไวรัสยังไม่หายก็ยังเสี่ยงอยู่ดี
“คำถามคือ คนจำนวนหนึ่งอยากฉีดวัคซีน เพราะไม่อยากตายจากไวรัส แต่คนจำนวนหนึ่งไม่อยากฉีด เพราะกลัวอันตรายจากวัคซีน ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงต้องเน้นความปลอดภัย และประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวัคซีนโควิด19 ที่ผ่านระยะ 3 จากทั่วโลกมี 20 ยี่ห้อจาก 20 บริษัท และปัจจุบันมีวัคซีนการผลิตอยู่ 4 เทคโนโลยี คือ 1. เทคโนโลยี mRNA จากสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งใหม่แต่เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสูงสุดถึง 95% ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปีมีประสิทธิภาพประมาณ 50-60% เท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องใช้ประสิทธิภาพถึง 80-90% เพราะ 50-60% ก็เพียงพอ สิ่งสำคัญคือ หากรับวัคซีนต้องทำให้โรคไม่รุนแรง และไม่เสียชีวิต อันนี้คือเป้าหมายใหญ่ ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา หลักการวัคซีนตัวนี้ คือ เอาไวรัสตัวหนึ่งที่ไม่ก่อโรคในคน และเอาพันธุกรรมของโควิด-19 ที่สร้างโปรตีน(สไปรท์โปรตีน) จนเกิดการแพร่ระบาดเยอะๆ เข้าไปแตะกับไวรัสตัวนี้และเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งภูมิคุ้มกันตัวเราจะพบว่าไวรัสตัวนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม และจดจำว่านี่คือเชื้อโรค เมื่อจำได้ภูมิคุ้มกันในตัวเราก็จะกำจัดไวรัสพวกนี้ ดังนั้น ตัวนี้จึงมีประสิทธิภาพสูงถึง 90% โดยทั้งหมดต้องฉีด 2 ครั้ง แต่วัคซีนตัวนี้ไม่ได้เอาโควิด-19 มาทำ จึงทำให้ราคาไม่แพง ขณะนี้ในไทยได้ประมาณ 5 เหรียญสหรัฐต่อ 1 โดส อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้มีบริษัทอื่น อย่างรัสเซียด้วย แต่เราไม่ได้เอาเข้ามา
มีอีกตัวที่ไทยนำเข้ามาในเดือน ก.พ. คือ ซิโนแวต เพราะแอสตราเซเนกาอย่างเดียวอาจไม่พอ โดยวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวต เป็นการใช้เทคโนโลยีที่นำเชื้อโควิด และทำให้อ่อนแรงลง จนไม่สามารถทำอันตรายได้ และนำเข้าร่างกายเรา จนภูมิฯ ของเราจดจำเชื้อไวรัสนี้ และเมื่อเชื้อเข้ามาก็จะไปจัดการ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ เป็นเทคโนโลยีเดิมแต่มีราคาสูง เพราะต้องไปจัดการเชื้อให้อ่อนแรงไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ซึ่งได้ผลประมาณ 50% ที่เพียงพอต่อการเกิดภูมิคุ้มกัน โดยเทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปลอดภัยมาก เพราะรู้จักมานาน แต่เทคโนโลยีของแอสตราฯ โดยทฤษฎีไม่ได้ใส่ไวรัสเข้าไป โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการแพ้ก็น่าจะน้อย ซึ่งผลการศึกษาระหว่างทดสอบระยะ 1 2 และ 3 พบบ้าง 2-3 กรณี แต่สุดท้ายไม่เกี่ยวกับวัคซีน ก็ถือว่าปลอดภัย
“ วัคซีน 2 ตัวนี้ ทั้งจากแอสตราฯ และซิโนแวต จะนำเข้ามาในประเทศไทย และเมื่อเข้ามาและทุกคนฉีดก็จะครอบคลุมประมาณ 50-60% ของคนไทย บวกกับคนจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อแล้ว และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งน่าจะมีประมาณ 60-70% รวมๆแล้วก็น่าจะถึงตัวเลขที่อาจทำให้โควิด-19 ถูกกำจัดโดยปริยาย นี่คือ เหตุผลของการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยชาติ จึงอยากให้เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และนี่ถือว่าโชคดีอย่างคือ เราไม่ได้เห่อเทคโนโลยีจนเอาแต่ตัวใหม่เท่านั้น แต่ 2 ตัวนี้ที่จะเอาเข้ามาถือว่าปลอดภัย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว และว่า แต่วัคซีนตัวนี้ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันโควิด19 ของเรานานมาก อาจอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ก็อาจต้องฉีดปีละครั้ง แต่ยังสรุปไม่ได้ ณ เวลานี้
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนช่วยชาติ แต่ทำไมต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ว่า วัคซีนแต่ละตัวจะบอกว่า ปลอดภัย 100% คงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้อยากบังคับ แต่อยากเชิญชวนให้ฉีด เพราะวัคซีน 2 ตัวนี้ปลอดภัย หากมีผลข้างเคียงก็ไม่มาก
- 144 views