9 เมษายน 2563

วันนี้มีจำนวนเคสติดเชื้อรายใหม่ 54 คน ทำให้ยอดรวมสะสมเป็น 2,423 คน

ข่าวดีคือ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของเรา ไทยเราสามารถดึงกราฟ เปลี่ยนการระบาดจากเส้น 33% ลงไปเหลือ 15% ได้ใน 20 วัน

และเราสามารถดึงจาก 15% ลงมาแตะ 12% ได้ในวันนี้ ใช้เวลา 6 วัน

ด้วยอัตราการติดเชื้อแต่ละวันที่เรามี คาดว่าเราจะฉุดกราฟมาแตะเส้น 10% ได้โดยใช้เวลา 6 วัน นั่นคือ 15 เมษายน 2563

แต่เชื่อเหลือเกินว่า เราทุกคนอยากจะกดเคสติดเชื้อใหม่ให้ลดลงไปทุกวันยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ ไม่กระโดดมาหลักร้อยหรือเฉียดร้อยอีกเลย

จะทำได้ไหม? จะได้ปิดเกมส์ทรมานนี้ให้เร็ว ไม่ยืดเยื้อรุนแรงแบบประเทศอื่นๆ

ลองมาดูข้อมูลของวันนี้กัน...

กลุ่มหลักยังเป็นคนที่ติดเชื้อมาจากการไปใกล้ชิดคนที่ป่วยเป็นโรค มีถึง 22 คน นั่นคือ 40% ของเคสใหม่ทั้งหมด

ตามมาด้วยคนที่ทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันตามสถานที่ต่างๆ 12 คน หรือ 20%

กลุ่มที่มาจากต่างประเทศ ทั้งไทยและต่างชาติ ประมาณ 10 คน หรือ 20%

และมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 4 คน หรือราว 10%

...ท่องไว้ว่า กลุ่มสัมผัสคนติดเชื้อ คนทำงาน คนจากต่างประเทศ และบุคลากรทางการแพทย์...

นี่คือ กลุ่มหลักๆ ทั้ง 4 กลุ่มที่จริงๆ แล้วสามารถ "เอาอยู่" ...ถ้ารัฐและเราทุกคน "เอาจริง"

ถามว่าจะเอาจริงได้อย่างไร?

1. กลุ่มใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ มีทั้งสมาชิกครอบครัว และคนในละแวกพื้นที่: มาตรการมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันแก่สมาชิกครอบครัวและคนใกล้ชิด รวมถึงการแยกตัวผู้ติดเชื้อให้ออกห่าง หรือหากเกิดอาการสงสัยต้องสามารถเข้าถึงการตรวจได้เร็ว รักษาได้เร็ว

2. กลุ่มคนทำงานและใช้ชีวิต: รัฐควรให้ความสำคัญมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน นโยบายและมาตรการที่ควรรีบออกมาคือ การลดวันทำงาน ลดคนทำงาน ของทั้งรัฐและเอกชน

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น รณรงค์ขอความร่วมมือ ได้ผลน้อย โดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล ดังจะเห็นได้จากจำนวนรถและจำนวนคนในเมืองช่วงกลางวันที่ยังต้องออกมาทำงานเพราะที่ทำงานอ้างว่าไม่มีนโยบายรัฐบาลให้หยุด เคสใหม่แต่ละวันจึงมีให้เห็นอยู่ตลอดมา

ถึงเวลาที่ต้องเข้มขึ้นแล้วครับ รอต่อไป ก็จะกลายเป็นเงื้อง่าราคาแพง

"เจ็บแผลแต่ไม่หายสักทีเพราะติดเชื้อซ้ำซ้อน"

3. กลุ่มคนจากต่างประเทศ: มาตรการที่รัฐดำเนินอยู่ตอนนี้ดูจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น วางแผนพาคนจากต่างประเทศกลับมาบ้านเกิดได้ชัดเจน และเป็นระบบมากขึ้น

แต่ต้องเน้นย้ำให้สามารถตรวจคัดกรอง และกักตัวเฝ้าสังเกตอาการ 14 วันให้ได้ 100% และที่ยังต้องการการขันน็อตแน่นๆ คือ ระหว่างอยู่ในสถานที่สังเกตอาการนั้น ต้องเฝ้าระวังไม่ให้คนที่อยู่ระหว่างกักตัวออกนอกสถานที่ หรือมีการพบปะกับคนอื่นๆ เสริมสร้างระเบียบวินัย ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม หากทำเช่นนั้นได้ดี ก็จะทำให้ปัญหาเบาบางลงได้

4. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์: ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขได้จริง ก็ต่อเมื่ออุปกรณ์การแพทย์ ที่ใช้สำหรับการป้องกันนั้นมีมาตรฐาน และมีเพียงพอ ถ้าไม่พอ ต้องไม่ฝืนส่งทหารไปรบ เพราะแทนที่จะรบชนะ จะกลายเป็นส่งไปเพื่อสูญเสีย

นอกจากนี้ จะปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ได้ ประชาชนก็ควรร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ต้องกลัวที่จะบอกเรื่องความเสี่ยงที่ตนเองมี การบอกความจริงเป็นการแสดงความรักและความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม ยิ่งบอกเร็ว ยิ่งตรวจได้เร็วรักษาได้เร็ว หายได้เร็วครับ

...ทั้ง 4 เรื่องนี้ เราจะเอาอยู่ ถ้าทั้งรัฐบาลและประชาชนเอาจริง...

ถ้าเราเอาจริง เราจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมได้ จากตอนนี้คาดว่า ณ วันสงกรานต์ จะมีเคสสะสมราว 2,881 คน ซึ่งอาจต้องใช้เตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยหนักประมาณ 140 เตียง และอาจขยายไปถึง 3,874 คน และต้องการเตียงถึง 194 เตียง แต่หากมองไปยาวถึงปลายเดือนพฤษภาคม อาจมีถึง 5,630 และต้องการเตียงผู้ป่วยหนักถึง 282 เตียง

เราเปลี่ยนชะตาการระบาดจาก 33% มุ่งสู่ 10% ได้ เพราะแรงกายแรงใจของพวกเรา

เชื่อลึกๆ ว่า เราจะทำได้อีกเช่นกัน

แต่ครั้งนี้ ต้องร่วมกันทำแบบมุ่งเป้าครับ

#ไทยต้องทำได้

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

#StayHome #อยู่บ้านกันนะครับ

#โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกัน

#ร่วมดูแลคนในบ้านและคนใกล้ชิด

#ลดจำนวนคนทำงาน

#ไม่กลัวที่จะบอกว่าสงสัยเรื่องติดเชื้อ

#รักหมอรักตัวเองรักสังคม

...เราสู้ไปด้วยกันนะครับ...

โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล