ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย 19 จังหวัดไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รอบ 7-14 วันล่าสุด พร้อมขอ “ร้านอาหาร” จัดคิวให้ “พนักงานจัดส่ง” รอหน้าร้านเว้นระยะห่าง 2 เมตร หากพบติดเชื้อจากหน้าร้าน อาจถูกปิด
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันเพิ่มขึ้น 127 ราย หรือประมาณร้อยละ 8 ซึ่งก็ถือว่าต่ำกว่าเราคาดการณ์ แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนในการปฏิบัติการเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะจากการวิจัยข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่าคนไทยมีการเว้นระยะห่าง 70% แต่เราต้องการให้ถึง 90% ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่ผ่านมาเราพบอายุประมาณ 20-50 ปี และผู้เสียชีวิตก็ยังเป็นผู้สูงอายุ
“ส่วนเรือนจำที่ติดเชื้อนั้น พบรายเดียว มีประวัติสัมผัสกับตำรวจในโรงพัก ซึ่งก็มีการควบคุมแล้ว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้น อยู่ที่ประชาชนพี่น้องทั้งหลาย โดยเฉพาะโซเชียลช่วยกันกระตุ้น นอกจากนี้ ในกลุ่มส่งอาหารนั้น ต้องขอให้ปฏิบัติการตามมาตรฐานด้วย อยู่ห่างกันเกิน 2 เมตร และในร้านอาหารหากปล่อยให้คนรับส่งอาหาร หรือมารอแออัดหน้าร้าน ก็ต้องขอความร่วมมือ ให้จัดสถานที่นั่งรอให้ห่างกัน 2 เมตร ดูแลความแออัดให้ได้บัตรคิวกันเรียบร้อยด้วย เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ซึ่งหากภาครัฐพบว่า มีการติดโรคจากหน้าร้านของท่านจะถูกปิดร้านได้” นพ.สุขุม กล่าว
ปลัด สธ. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาด ยังพบว่ามี 19 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 7 และ 14 วันล่าสุด (ข้อมูล ณ 30 มี.ค.63) แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัดไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ใน 7 วันล่าสุด มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบูรณ์ ยโสธร ลพบุรี สุโขทัย โดยเน้นมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง และในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 7-14 วัน ก่อนหน้านี้ และติดตามคนที่เข้ามาใหม่ในพื้นที่อย่างเข้มงวด และกลุ่มที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ใน 14 วันล่าสุด มี 15 จังหวัด ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด นครนายก น่าน พังงา พิจิตร ระนอง ลำปาง สกลนคร บึงกาฬ สตูล สมุทรสงคราม อ่างทอง และสิงห์บุรี โดยเน้นมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกค้นหากลุ่มก้อนของไข้หวัดในชุมชน และติดตามคนที่เข้ามาใหม่ในพื้นที่อย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ตัวอย่าง รพ.จะนะ ไม่มีผู้ป่วยโควิดเลย
นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเตรียมพร้อมเตียงนั้นเรามีกว่าพันเตียง ตอนนี้มีรักษาอยู่ใน กทม. 700 กว่าคน ส่วนต่างจังหวัดมีเตียงกว่า 1 แสนเตียง และมีเครื่องมือช่วยหายใจกว่า 1 พันเครื่อง แต่หากเกิดระบาดหนัก เครื่องมือเหล่านี้ไม่เพียงพอ จึงต้องขอความมือในการปฏิบัติป้องกันโรคร่วมกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีการขยายเตียงเพิ่ม ห้องไอซียูความดันลบ ซึ่งกำลังทำแผนจัดสรรทรัพยากร อย่างหน้ากากอนามัย(สีเขียว) จากเดิม 150,000 อัน ปัจจุบันได้ 1.5 ล้านชิ้น ส่วนกระทรวงมหาดไทยได้อีก 1 ล้านชิ้น
นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับหน้ากาก N95 นั้นยังขาดแคลนไม่ใช่แค่ไทย แต่ทั่วโลก โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด มีความต้องการหน้ากาก N95 จำนวน 17,000 ชิ้นต่อวัน หรือ 5 แสนชิ้นต่อเดือน โดยจะมีการสั่งจากรัฐบาลจีนมาประมาณ 1 ล้านชิ้น ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีมติอนุมัติงบซื้อ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบกลางในการซึ่งเวชภัณฑ์ต่างๆ ส่วนยา “ฟาวิพิราเวียร์” นั้น ขณะนี้ขอเพิ่ม 40,000 เม็ด กระจายทั่วประเทศ โดยรักษาผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ผู้ป่วยทั่วไปจะมียามาตรฐานทั่วไป ซึ่งกระจายแล้วในวันที่ 31 มี.ค.2563 ส่วนชุดทดสอบ 2 หมื่นชุดได้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทดสอบมาตรฐานความแม่นยำก่อนกระจายไปใช้ในการตรวจหาเชื้อต่อไป รวมถึงชุดป้องกันการปฏิบัติงานทางการแพทย์ หรือชุด PPE ได้มีการกระจายแต่ละพื้นที่แล้วเช่นกัน
- 11 views