เมื่อสัปดาห์ก่อน หลายคนคงได้ยินข่าวแล้วว่า มีการเริ่มทดสอบวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ในอเมริกา โดยมีการเริ่มทดลองในอาสาสมัครหลายสิบคน
โดยปกติแล้วการวิจัยคิดค้นวัคซีนนั้น มักจะต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่การทดลองในสัตว์ และค่อยไปทดลองในคน ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลานานเฉลี่ย 12-15 ปี
แต่ในยามที่เกิดวิกฤติโรคระบาดทั่วโลกเช่นนี้ ย่อมต้องมีความพยายามที่จะต้องรีบคิดค้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังเช่นในสถานการณ์ COVID-19 ดังที่เห็นในปัจจุบัน
นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นการรีบศึกษา โดยทำทั้งในสัตว์และในคนไปในช่วงเวลาเดียวกัน
ไวรัสกลุ่มโคโรนา หลายต่อหลายตัวทำให้เกิดอาการแบบไข้หวัด และหลังจากที่มีการติดเชื้อไปแล้ว ก็จะกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายให้มีแอนติบอดี้ที่จะเป็นภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจนป่วยซ้ำ
สำหรับเรื่องไวรัสโรค COVID-19 นั้น เมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมา มีงานวิจัยเผยแพร่ออกมาโดยคณะวิจัยชาวจีน พบว่า ลิงที่ได้รับเชื้อไวรัสนี้ แล้วเกิดอาการเล็กน้อย หากทดลองให้ลิงสัมผัสกับเชื้อไวรัสอีกครั้งตอน 4 สัปดาห์หลังจากหายจากอาการป่วย พบว่า ลิงไม่ได้มีอาการป่วยเลย ซึ่งบ่งบอกว่าน่าจะเป็นไปได้ว่า ลิงมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราก็ยังไม่มีความรู้เพียงพอ ว่าแอนติบอดี้ที่เป็นภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดนั้น จะคงอยู่ยาวนานเพียงใด และจะมีปริมาณสูงเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้จริงหรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป
เคยมีการศึกษาในโรค SARS ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มโคโรนาเช่นกัน พบว่า คนที่เคยติดเชื้อโรค SARS ยังสามารถวัดระดับแอนติบอดี้ได้แม้เวลาจะผ่านมาถึง 15 ปี แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกได้ว่าแอนติบอดี้ที่มีอยู่นั้นจะสามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ (เพราะคงไม่มีใครกล้าทดลองที่จะเอาเชื้อ SARS ไปให้คนเหล่านั้นสัมผัสซ้ำ)
ในขณะที่คนที่ติดเชื้อไวรัส MERS ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มโคโรนาเช่นกัน กลับพบว่าแอนติบอดี้จะลดลงอย่างรวดเร็ว
ขณะนี้สำหรับโรค COVID-19 มีวัคซีนหลายชนิดที่กำลังเร่งดำเนินการวางแผนวิจัยกัน โดยหวังที่จะหาวัคซีนที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี้ที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส หรือสามารถที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ได้
เช่น วัคซีนประเภท RNA ซึ่งผลิตโดยบริษัท Moderna ที่ตั้งอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซ็ต ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัยระยะที่ 1 ในมนุษย์ดังที่ปรากฏในข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
วัคซีนประเภท DNA ผลิตโดยบริษัท Inovio ในรัฐเพนซิลเวนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนี้ประสบความสำเร็จในการทดลองในหนูและ guinea pig แล้วพบว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดี้ และกระตุ้น T-cells ให้เกิดขึ้นได้ โดยเผยแพร่ผลสู่สาธารณะเมื่อต้นมีนาคมที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังดำเนินการทดลองในลิง เพื่อดูว่าผลที่ได้จะเหมือนในหนูและ guinea pig หรือไม่
สิ่งหนึ่งที่ต้องทราบคือ การที่เราไม่สามารถรีบนำไปทดลองในคนได้เลย เพราะว่าต้องการให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน
เรื่องความปลอดภัยนั้น ไม่ใช่แค่ว่าจะกลัวเรื่องแพ้วัคซีน หรือปฏิกิริยาของสารเคมีในวัคซีนต่ออวัยวะต่างๆ เท่านั้น แต่อีกเรื่องที่สำคัญคือปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า "disease enhancement" หรือแปลว่า การที่วัคซีนที่ฉีดเข้าไป แล้วทำให้คนที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการของโรครุนแรงขึ้นกว่าเดิม
โดยพบว่า เคยพบปรากฏการณ์นี้ตอนทำการวิจัยเรื่องวัคซีนป้องกันโรค SARS ในปี 2004
พอเราเข้าใจเรื่องการพัฒนาวัคซีนดังที่กล่าวมาแล้ว เราจึงต้องยอมรับความจริงว่า กว่าจะได้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 น่าจะใช้เวลาอีกเป็นปี หรือมากกว่านั้น
ตอนนี้จึงต้องเน้นเรื่องการควบคุมป้องกันโรค โดยพยายามไม่ให้คนติดเชื้อ ด้วยการหยุดนิ่ง ไม่สุงสิง รักษาความสะอาดส่วนตัว และหากป่วยก็ต้องหาทางดูแลรักษาให้หายดี ไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
#StayHome
โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
Coronavirus vaccines: five key questions as trials begin. Nature. 18 March 2020.
- 8 views