ถ้าว่าตามองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมาตรฐานการเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต้องไม่เกินร้อยละ 10 ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งถ้าดูตัวเลขในไทยจากปี 2533 การคลอดที่เกิดจากผู้หญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
งานศึกษาเรื่อง ‘การศึกษาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของวัยรุ่นหญิงในจังหวัดนครพนม’ จากวารสารการบริหารปกครอง ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2562) ระบุว่า ในปี 2555 มีจำนวนการคลอดทั้งหมด 801,737 ราย จากวัยรุ่นหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 129,451 ราย ส่วนในปี 2558 ที่เป็นข้อมูลล่าสุดพบอัตราคลอด 44.8 ต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คน เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขการคลอดของวัยรุ่นในกลุ่มประเทศใกล้เคียง พบว่าประเทศไทยมีอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปีอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี จีน และสิงคโปร์ที่มีเพียง 2-6 รายต่อ 1,000 คน
ส่วนตัวเลขจากเอกสารยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ระบุว่า มีการคลอดในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 95,000 คน ในปี 2546 เป็นประมาณ 104,300 คนในปี 2558 ขณะที่การคลอดบุตรโดยวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีมีประมาณปีละ 3,000 คน วัยรุ่นอายุ 10-19 ที่คลอดบุตรซ้ำหรือคลองเป็นครั้งที่ 2 ขึ้นไปมี 12,700 คน หรือร้อยละ 12.2 ของการคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-19 ปีทั้งหมด
ผู้คนในสังคมรับรู้ดีพอสมควรว่า วัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญ ‘ปัญหา’ อะไรบ้าง ทว่า การ ‘เผชิญปัญหา’ กับการ ‘เป็นปัญหา’ มีความหมายต่างกัน ประเด็นคือผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมอาจสับสนระหว่าง 2 คำนี้ โดยมองว่าวัยรุ่นตั้งครรภ์เป็นปัญหา ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น พ.ศ.2559
ลองอ่านชื่อกฎหมายซ้ำสักสองสามรอบ คุณมองเห็นอะไร?
คำว่า ‘ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น’ ซึ่ง ‘ผู้ใหญ่’ เป็นคนบอกและออกกฎหมาย ก่อให้เกิดคำถามว่า เคยมีผู้ใหญ่คนไหนถามวัยรุ่นหญิงทุกคนที่ตั้งครรภ์บ้างหรือไม่ว่า
“หนูจ๊ะ หนูตั้งท้องแบบนี้ มันเป็นปัญหามั้ย หนูท้องไม่พร้อมหรือเปล่า?”
มีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แล้วไม่มีปัญหาและพร้อมจะตั้งครรภ์หรือเปล่า? มี
แล้วทำไมพวกเธอเหล่านั้นต้องถูกจัดกลุ่มว่ามีปัญหาโดยไม่มีโอกาสแก้ต่าง การที่วัยรุ่นหญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์ต้องออกจากโรงเรียน เข้าไม่ถึงการบริการให้คำแนะนำปรึกษา เข้าไม่ถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์และการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ถูกสังคมตีตราว่าใจแตกและอื่นๆ พิจารณาให้ดีๆ มัน ‘เป็น’ ปัญหาที่วัยรุ่นต้องแบกรับฝ่ายเดียวจริงหรือ?
หรืออคติ การตีตรา การเหมารวม การไม่ถูกยอมรับ การไม่มีระบบทางสังคมที่คอยโอบอุ้มต่างหากที่ทำให้วัยรุ่นหญิงเหล่านั้นต้อง ‘เผชิญ’ ปัญหา
เริ่มต้นกันใหม่
ประเด็นแรกที่ต้องเข้าใจร่วมกันก่อนก็คือ กฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรค 1 ระบุว่า ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000-400,000 บาท
แต่ในวรรค 5 ก็เขียนไว้ด้วยว่าความผิดวรรค 1 ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปีกระทำต่อเด็กที่มีอายุมากกว่า 13 ปี ถึงไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กผู้ถูกกระทำนั้นยินยอม ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือจะอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกันโดยกำหนดเงื่อนไขให้ต้องดำเนินการภายหลังการสมรสก็ได้ และเมื่อศาลได้พิจารณามีคำสั่งอย่างใดแล้ว ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ในการพิจารณาของศาลให้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อมของผู้กระทำความผิดและเด็กผู้ถูกกระทำ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำความผิดกับเด็กผู้ถูกกระทำ หรือเหตุอื่นอันควรเพื่อประโยชน์ของเด็กผู้ถูกกระทำด้วย
ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ย่อมถือเป็นความผิดตามกฎหมาย (แต่มีข้อยกเว้นตามวรรค 5)
ประการต่อมาที่ต้องย้ำอีกครั้ง การที่วัยรุ่นหญิงซึ่งหมายถึงช่วงวัย 10-19 ปีตั้งครรภ์ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัววัยรุ่น ครอบครับ สังคม และเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดจากแม่อายุน้อยมีโอกาสที่จะมีน้ำหนักน้อยหรือต่ำกว่า 2,500 กรัม ความเครียดของครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่รัฐต้องจัดหาให้
เพียงแต่ต้องไม่เริ่มต้นจากการมองว่าวัยรุ่นเป็นปัญหา
เพราะเป็น ‘วัยรุ่น’ จึงเป็น ‘ปัญหา’
“เรื่องท้องวัยรุ่นโดยหลักการก่อน มันมองว่าตัววัยรุ่นมีปัญหา มันเป็นวิธีคิดที่เหมือนเวลาเราพูดถึงปัญหายาเสพติด เราก็จะมองว่าปัญหาอยู่ที่ตัวเด็ก ปัญหาท้องวัยรุ่น เราก็ไปมองว่าวัยรุ่นมีปัญหา มีปัญหาเรื่องอะไร ก็เรื่องการมีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร การใจแตก ความสำส่อนของเด็กวัยรุ่น ในสังคมไทยวิธีคิดฐานมันอยู่บนนี้” กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าว
กฤตยา อาชวนิจกุล
กฤตยาตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เมื่อมองเป็นปัญหาก็มีการออก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลมาจากการรัฐประหาร เพราะถ้าอยู่ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากกว่านี้ เธอมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่มองปัญหาเด็กแบบคุณพ่อรู้ดี ตั้งใจดี ที่อยากจะแก้ไข ขณะเดียวกันคนที่ทำงานเรื่องท้องในวัยรุ่นที่เป็นเอ็นจีโอบางส่วนก็คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะออกกฎหมายได้อย่างรวดเร็วจึงสนับสนุน
จุดยืนของกฤตยาที่ทำงานประเด็นเรื่องท้องวัยรุ่นมานาน ในภาพรวมการท้องของวัยรุ่นไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่การท้องของวัยรุ่นในบางกลุ่มอายุก็ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ชี้ถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่นการคลอดของเด็กผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปีที่ในอดีตมีปีละประมาณ 3,000-4,000 คน ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเพราะกฎหมายก็กำหนดเป็นความผิด เพราะฉะนั้นถ้าดูในภาพรวมแล้ว ปัญหาจะมีกับบางกลุ่ม
“ถ้าเราพูดลงกันในรายละเอียด เราจะเห็นภาพว่าสถานการณ์แบบที่เขาพูดมันจริงบางส่วน แต่มันไม่ถึงกับซีเรียสอะไรขนาดนั้น เพราะว่าท้องวัยรุ่นของประเทศไทยจำนวนหนึ่งและน่าจะเป็นจำนวนที่มากกว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว คือเป็นการท้องที่มาจากการแต่งงานที่เขาแต่งงานของเขาเอง ไม่ว่าจะเพราะความรักหรืออะไรก็ตามแต่ คือเวลาเขาพูดถึงหลักการและความสำคัญ เขาจะเอาทุกอย่างมาปนกันหมด
“ขณะที่เราทำงานเรื่องของวัยรุ่นมาตั้งแต่ก่อนกฎหมายจะออก จริงๆ แล้วจำนวนท้องวัยรุ่นในขณะนี้ค่อยๆ ลดลง มันมีตัวเลขที่แสดงว่าเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งตั้งแต่ทำงานมาว่า สัดส่วนของท้องวัยรุ่นลดลง ถามว่าเป็นผลจากการดำเนินงานหรือไม่ ก็น่าจะมีส่วนอยู่เพราะเขาก็เร่งรัดไปทุกจังหวัดให้รายงานผล”
กฤตยาให้ข้อมูลว่าอัตราการคลอดบุตรจากแม่วัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2555 ตัวเลขอยู่ที่ 53.4 ต่อ 1,000 ประชากรของกลุ่มแม่วัยรุ่น 15-19 ปีหรือร้อยละ 5.3 และจากปี 2556-2560 ตัวเลขนี้ก็ลดลงมาเหลือ 51.2, 47.9, 44.8, 42.59 และ 39.02 ต่อ 1,000
สิ่งที่อยู่ในกฎหมาย
ใน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มาตราสำคัญคือมาตรา 5 ที่ระบุว่า วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเองและมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ
ขณะที่มาตรา 6 ยังกำหนดให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า ต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้คำปรึกษาในเรื่องการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่นักเรียนหรือนักศึกษา จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม
หัวใจสำคัญของ 2 มาตรานี้คือตัววัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไรกับการตั้งครรภ์ของตนและรัฐมีหน้าที่จัดหาบริการต่างๆ ให้อย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ ขณะที่สถานศึกษาจะต้องคุ้มครองให้ได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่องและเหมาะสมกับสถานการณ์ของวัยรุ่น
นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ระบุวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ว่า วัยรุ่นมีความรู้ด้านเพศวิถีศึกษา มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตร เป็นส่วนตัว รักษาความลับ และได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาค” โดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ ได้แก่
1.วัยรุ่นมีความรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตสามารถงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ป้องกันการตั้งครรภ์ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ รวมถึงได้รับการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองอย่างเป็นระบบเมื่อประสบปัญหา
2.ครอบครัวมีทัศนคติเชิงบวกและมีบทบาทในการสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรหลาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
3.วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ได้รับการปรึกษาทางเลือกสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ รวมถึงได้รับบริการที่เป็นมิตรและถูกต้องตามหลักวิชาการในการฝากครรภ์ การคลอด การดูแลสุขภาพหลังคลอด หรือการยุติการตั้งครรภ์ และการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ
4.พ่อแม่วัยรุ่นได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลือเกี่ยวกับการดูแลเลี้ยงดูบุตร การจัดหาครอบครัวทดแทนกรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ และได้รับสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสม รวมถึงการฝึกอาชีพและการได้งานทำ
5.เกิดกลไกในการดำเนินงานบูรณาการทุกภาคส่วนหลักในการดำเนินงาน ทั้งในด้านการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้อย่างเป็นรูปธรรม
ยุทธศาสตร์นี้วางเป้าหมายว่า ในปี 2569 อัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 10-18 ปีลดลง ไม่เกิน 0.5 ต่อประชากรหญิงอายุ 10-14 ปี 1,000 คน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 และอัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปีลดลง ไม่เกิน 25 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 44.8
ในยุทธศาสตร์ยังระบุปัจจัยที่มีผลต่อการลดหรือเพิ่มการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นมีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับหลายมิติ สภาพสังคมปัจจุบันส่งผลให้การดำรงชีพของครอบครัวไทยจำนวนมากต้องดิ้นรน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพ เป็นผลให้ครอบครัวส่วนหนึ่งไม่สามารถดูแลบุตรหลานให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เด็กจำนวนมากไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของตนเองเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นและไม่อาจปรับตัวให้เท่าทันสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ ประกอบกับการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการกินอยู่ที่ดีขึ้นทำให้เด็กเติบโตสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วขึ้น การขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา การไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตร การเข้าถึงสื่อทุกรูปแบบได้โดยไร้ขีดจำกัดส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศเร็วขึ้นโดยขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดการฝึกฝนทักษะชีวิตเพื่อดูแลและรักษาความสัมพันธ์ทางเพศให้ราบรื่นปลอดภัย ไม่เกิดผลกระทบทั้งต่อตนเองและคนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเกิดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ในความเป็นจริงนั้น...
สมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ได้เคยกล่าวกับสื่อว่า จากข้อมูลของสายด่วนฯ พบว่า มีวัยรุ่นจำนวนมากยังไม่ได้รับทั้งบริการและสิทธิตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยวัยรุ่นที่ปรึกษาจำนวน 5,456 ราย ระบุว่าการตั้งครรภ์เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา ขณะเดียวกันก็พบว่าการศึกษากลับเป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ เพราะวัยรุ่นหลายคนที่ท้องในขณะที่เรียนอยู่ ไม่ได้มีปัญหาอย่างอื่นและมีแผนจัดการหลังคลอดเป็นอย่างดี แต่ผู้บริหารสถานศึกษาหรือครูบางคนไม่ให้เรียนหนังสือต่อหรือสร้างสิ่งแวดล้อมให้เป็นอุปสรรค จนเด็กและผู้ปกครองทนไม่ไหวต้องหยุดเรียนหรือย้ายไปเรียนโรงเรียนอื่น แม้ว่า พ.ร.บ.และกฎกระทรวงศึกษาธิการระบุชัดเจนว่า ถ้านักเรียนหรือนักศึกษาตั้งครรภ์ต้องจัดระบบดูแลช่วยเหลือที่ดีและห้ามให้นักเรียนออกจากโรงเรียน
สมวงศ์ อุไรวัฒนา
ข้อมูลจากสายด่วน 1663 ยังบอกอีกว่า มีนักเรียนนักศึกษาโทรไปปรึกษากรณีถูกบังคับให้ออกจากสถานศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยทางสถานศึกษาให้เหตุผลหลักอยู่ 2 ประการคือนักเรียนหรือนักศึกษาทำผิดกฎสถานศึกษาและประพฤติตัวทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงเรียน
“การที่ผู้บริหารสถานศึกษาบังคับให้เด็กออกจากสถานศึกษาหรือให้ย้ายสถานศึกษาโดยผู้เรียนไม่ได้สมัครใจ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ต่อนักเรียนและครอบครัวอย่างมาก เป็นการสร้างวิกฤติซ้ำเติมให้กับนักเรียนมากกว่าการช่วยเหลือและแก้ไขให้เด็กที่พลาดมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง และถือเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน” สมวงศ์ กล่าวกับสื่อ
อีกประเด็นหนึ่ง แม้กฎหมายจะพยายามเปิดโอกาสวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีสิทธิตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร รวมไปถึงการยุติการตั้งครรภ์ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร ทำให้ในทางปฏิบัติจริงยังมีปัญหาอยู่มาก กฤตยา กล่าวว่า
“เรื่องนี้เป็นสิทธิ์ของผู้หญิงที่ท้องมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าเขาจะทำอย่างไรกับท้องของเขา ให้โอกาสในเชิงกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจริงยังไม่มีการทำอะไรเรื่องพวกนี้เลย เพราะเวลาเราทำงานเรื่องท้องไม่พร้อมในประเทศไทย พอมาถึงเรื่องทำแท้ง แม้แต่คำว่าทำแท้งก็ไม่มีใครอยากให้ใช้ มันไม่สบายหูเขา เขาให้ใช้คำว่ายุติการตั้งครรภ์ มันยังเป็นอะไรที่แสลงอกแสลงใจในคนที่ยังมองเรื่องจารีต กลัวว่าจะนำไปสู่การทำแท้งเสรีหรือเด็กจะยิ่งใจแตก ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะมองว่าอันนี้คือทางเลือก เป็นโอกาสจะทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้เขาสามารถจะเลือกอนาคตได้ด้วยตัวเอง”
เรื่องราวของ ‘เพ้นท์’
เพ้นท์ตั้งครรภ์ตอนอายุ 15 ปี เวลานั้นเธออยู่ด้วยกันที่บ้านแฟน เป็นความตั้งใจที่จะอยู่ด้วยกัน เพราะเธอไม่อยากอยู่บ้าน อยากอิสระ ก็เลยเลือกที่จะออกมาอยู่กับแฟนตามประสาวัยรุ่น แต่ไม่ถึงกับคิดจะสร้างครอบครัวด้วยกัน เธอยอมรับว่าตอนนั้นมีปัญหาที่โรงเรียน ติดเที่ยว ไม่อยากเรียน อยากใช้ชีวิตอิสระ จึงตัดสินใจไม่เรียน เนื่องจากร้องเพลงเพราะ เธอเลือกอาชีพเป็นนักร้องที่ต้องทำงานตอนกลางคืน มีรายได้และรู้สึกว่ามีความสุขกว่าที่ต้องไปเรียน
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์เพ้นท์คิดว่าจะตั้งครรภ์ต่อ อีกทั้งแฟนก็ยอมรับ ไม่มีปัญหาเรื่องอื่นที่ต้องคิด เธอจึงไม่เครียดนักว่าจะต้องมีภาระเพิ่ม ถึงกระนั้นเธอก็แทบไม่ได้รับแรงใจจากครอบครัวตนเอง เธอเล่าว่าแม่ของเธอนิ่งเฉยและเอือมระอากับตัวเธอไปนานแล้ว ขณะเดียวกันเธอก็ไม่ค่อยสบายใจกับคำซุบซิบนินทาของชาวบ้านในชุมชนสักเท่าไหร่
“ตอนนี้เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว (ปัจจุบันเพ้นท์อายุ 20 ปี) เรามีลูกแล้ว เราเริ่มมองว่ามันก็เป็นปัญหา แต่ว่ามันเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ ไม่ใช่ปัญหาที่ทุกคนต้องมาซ้ำเติม เวลาคนเรามีปัญหาก็ต้องแก้ ถ้าไม่แก้มันไปต่อไม่ได้
“หนูคิดว่าหนูต้องเลี้ยงลูกแบบไหนก็ได้ที่ไม่ใช่เหมือนแม่หนู หนูไม่ได้โทษแม่หนูนะ แต่ว่าผู้ใหญ่สมัยก่อนเขาหัวโบราณ อะไรก็ไม่ได้ ถามอะไรก็ไม่ได้ ถามอะไรก็ด่า หนูเลยกลายเป็นคนที่มีอะไรไม่พูดกับแม่ หนูอยู่บ้านแล้วอึดอัด หนูพูดกับตัวเองเลยว่าหนูจะไม่เลี้ยงลูกเหมือนคนเมื่อก่อน หนูจะเลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน”
กับเพ้นท์การท้องไม่พร้อมของวัยรุ่นมีสาเหตุ เช่น บางคนเรียนอยู่ บางคนพ่อเด็กไม่รับผิดชอบ ฐานะยากจน ครอบครัวไม่ยอมรับ สำหรับเธอการท้องไม่พร้อม ณ เวลานั้นเป็นปัจจัยด้านการเงินเพราะว่ายังเด็กทั้งคู่ แต่การจะบอกว่าวัยรุ่นพร้อมหรือไม่พร้อม เธอคิดว่า
“น่าจะต้องถามจากตัวเขามากกว่า บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจท้อง แต่ฐานะทางบ้านโอเคก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเขานะ แต่บางคนท้องแล้วยากจนมันก็ไม่พร้อม”
ตอนนี้เพ้นท์ทำงานและเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ไปพร้อมกัน เธอยอมรับว่าอยากกลับไปเรียน อยากกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเพื่อนมหาวิทยาลัย เทอมหน้าเธอกำลังจะจบ ม.6 ใฝ่ฝันว่าจะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่เป็นการเรียนจากที่บ้านหรือเรียนภาคพิเศษวันเสาร์อาทิตย์หรือตอนเย็นหลังเลิกงาน
“หนูก็อยากให้แม่ภูมิใจในตัวหนู เราเป็นแม่คนแล้ว เราเป็นแม่ที่ดีก็อยากเป็นลูกที่ดีบ้าง”
ถ้าระบบโรงเรียนเปิดให้ไปเรียนได้ พร้อมกับทำงานและเลี้ยงลูกได้ หรือสามารถเอาลูกไปเลี้ยงที่โรงเรียนได้เธอคิดอย่างไร
“ก็โอเคนะลูกจะได้เรียนไปด้วย (หัวเราะ) เด็กจะได้รู้ก่อนเพื่อนไปเลย”
ถามว่ารู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเปล่า?
“มันก็ไม่ใช่รู้สึกผิด แต่ถ้าหนูไม่มีลูกตอนนั้น หนูก็คงคิดไม่ได้มาถึงตอนนี้ หนูคิดว่าหนูคงไม่เรียนแน่ๆ คงร้องเพลง อยู่กับแฟน ทำงานไปเรื่อยๆ จะถามว่าถ้าไม่มีลูกดีไหม ก็ดีนะ ไม่ต้องมาคิดว่าวันๆ หนึ่งเขาจะต้องกินอะไร ทำอะไร เหมือนเราต้องดูแลชีวิตอีกชีวิตหนึ่ง แต่ถ้าให้เลือกระหว่างมีกับไม่มี หนูว่ามีดีกว่า เพราะหนูรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น มีความคิดมากขึ้น เที่ยวกลางคืนนี่หนูไม่คิดเลยนะ หนูเสียดายเงิน คิดเรื่องอนาคต คิดทุกอย่าง เรื่องการเงิน อีกอย่างคือมีลูกแล้วเหมือนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหนูกับแม่ ทุกวันนี้หนูกับแม่คุยกันเรื่องลูก เรื่องหลาน”
เพ้นท์เล่าอีกว่าเธออยากเป็นครู อยากสอนเด็กๆ เวลาเห็นเด็กดีใจที่ทำการบ้านได้เธอมีความสุข และแน่นอน ถ้าเด็กที่เธอสอนตั้งครรภ์ เธอบอกว่าคงให้คำปรึกษาที่ดี ไม่ไปซ้ำเติม และให้เรียนต่อ เพราะเธอก็เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว ถ้าโรงเรียนที่เธออยู่ไม่ยอม เธอก็ยินดีไปสอนที่บ้านเด็ก
“หนูอยากให้สังคมผู้ใหญ่เปิดรับเรื่องเพศมากกว่านี้ พูดเรื่องเพศก็หาว่าเด็กแก่แดด ลามก ถามทำไม ยังไม่ถึงวัย เราต้องเริ่มสอนเขาตั้งแต่เด็กๆ หนูอยากให้สังคมเข้าถึงเรื่องนี้แบบที่เด็กไม่อาย”
แรงกดดันบนบ่าของวัยรุ่นหญิง
‘แม่วัยุร่น: ประสบการณ์ชีวิต เพศภาวะ และเพศวิถี’ ของวาทินีย์ วิชัยยา งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2556 ซึ่งเป็นงานศึกษาที่ไม่ได้ตั้งต้นว่าแม่วัยรุ่นเป็นปัญหาสังคม แต่เป็นการศึกษาประสบการณ์ชีวิตของวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคม วัฒนธรรม เพศภาวะ และเพศวิถีในสังคมไทยอย่างไร การศึกษาชิ้นนี้ พบว่า
สังคมมักมองว่าวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นผู้หญิงใจแตก ไม่รักนวลสงวนตัว ไม่ตั้งใจเรียน มาจากครอบครัวที่หย่าร้าง ซึ่งค่อนข้างเป็นการมองที่มีลักษณะเหมารวมและคู่ตรงข้าม แต่งานศึกษานี้พยายามชี้ให้เห็นดว่าวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนดำรงสถานะทางสังคมอย่างน้อย 3 สถานะคือการเป็นผู้หญิง นักเรียนหรือนักศึกษา และการเป็นแม่ โดยมุมมองเกี่ยวกับการเป็นวัยรุ่น การศึกษาแบบเป็นทางการ อุดมการณ์และวิถีปฏิบัติทางเพศในสังคมไทยต่างหากที่มีอิทธิพลทำให้วัยรุ่นมักถูกมองและคาดหวังว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวใดๆ กับเรื่องเพศ มีหน้าที่ในการเล่าเรียนหนังสือเท่านั้น และหลังจากเรียนจบจึงจะเป็นวัยทำงานที่พร้อมจะมีครอบครัว
วิธีคิดเหล่านี้มาประทับตราให้แม่วัยรุ่นถูกมองว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอ การเจริญพันธุ์จึงไม่ได้เป็นประเด็นในทางชีววิทยาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องในเชิงสังคมด้วย ดังจะเห็นได้ว่าสังคมมักมีความเชื่อว่าชายหญิงในช่วงอายุใดที่ควรจะแต่งงาน มีครองครัวได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อทางออก ทางเลือกที่แม่วัยรุ่นใช้จัดการกับการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ประสบการณ์และความรู้สึกของแม่วัยรุ่นที่มีต่อเพศวิถีและเพศภาวะของตนเองมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว สังเกตได้จากผู้หญิงมีอารมณ์ ความรู้สึก และให้ความหมายต่อประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในชีวิตแตกต่างไปจากเพศสัมพันธ์ในครั้งต่อๆ มากของพวกเธอ ความรู้สึกที่มีต่อการแสดงบทบาทหน้าที่ของแม่ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์ก็เปลี่ยนแปลงไป การสนใจมิติทางอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละช่วงชีวิตของแม่วัยรุ่นทำให้ทราบว่า พวกเธอก็รับรู้ถึงบรรทัดฐานทางสังคม เช่น เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ พวกเธอรู้สึกผิดที่ทำให้ครอบครัวเสียใจ ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงต้องการทำแท้ง แต่ต่อมาเมื่อพวกเธอเป็นแม่ เห็นลูกเติบโต พวกเธอกลับรู้สึกดีใจที่ไม่ทำแท้ง และมองว่าการทำแท้งเป็นความไม่รับผิดชอบและผิดศีลธรรม
ในการจัดการการตั้งครรภ์ วัยรุ่นหญิงมีทางเลือก ทางออกที่หลากหลาย แต่เส้นทางเหล่านั้นมักถูกหล่อหลอมด้วยอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ ทางเลือก ทางออกนั้นมักอยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการคือ 1.ชายที่ทำให้ตั้งครรภ์และครอบครัวฝ่ายชายต้องยอมรับการตั้งครรภ์และยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ 2.ต้องเป็นการตั้งครรภ์ที่ถูกทำให้ชอบธรรมด้วยสถาบันการสมรส คือมีการจดทะเบียนหรือจัดพิธีแต่งงาน และ 3.ครอบครัวฝ่ายหญิงมีฐานะทางเศรษฐกิจกว่าครอบครัวฝ่ายชาย หากวัยรุ่นหญิงได้รับแรงสนับสนุนจากเงื่อนไขเหล่านี้ก็จะทำให้การจัดการการตั้งครรภ์เป็นไปโดยง่ายขึ้น
ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ควรมองการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นหญิงในวัยเรียนอย่างผิวเผินหรือมองเพียงแค่ว่าเป็น “ปัญหาสังคม” เช่น วัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นผู้หญิงใจแตก ไม่รักนวลสงวนตัว แต่ควรทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้อย่างสัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น การพัฒนาระบบการศึกษาที่เป็นทางการ มโนทัศน์วัยรุ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และมีมิติเชิงประวัติศาสตร์ ที่ทำให้สังคมสมัยใหม่วัยรุ่นถูกมองแยกออกมาว่าเป็นอีกช่วงวัยหนึ่งที่ต่างจากวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่
การคาดหวังว่าวัยรุ่นควรต้องแสดงบทบาทหลักคือเรียนหนังสือ รวมทั้งอุดมการณ์ทางเพศและเพศวิถี อุดมการณ์ความเป็นแม่และการเลี้ยงดูบุตรในสังคมไทย ซึ่งล้วนมีส่วนหล่อหลอมประสบการณ์ อารมณ์ และความรู้สึกในชีวิตช่วงต่างๆ ของวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน การแสวงหาทางเลือก ทางออก รวมถึงการยอมตามและต่อรองกับอุดมการณ์ต่างๆ เหล่านั้น และการได้รับความกดดันจากสังคม
พร้อมหรือไม่พร้อม? ต้องถามวัยรุ่น และใครกันแน่ที่ไม่พร้อม
จะเห็นได้ว่าการท้องในวัยรุ่นมีมิติอื่นๆ ที่ซ้อนทับลงบนบ่าของวัยรุ่นหญิง และสังคมต้องการให้วัยรุ่นหญิงเดินไปตามเส้นทางที่คาดหวัง
“พร้อมหรือไม่พร้อมต้องให้ผู้หญิงเป็นคนพูดเอง เพราะว่าท้องไม่พร้อมเท่าที่เราศึกษาเราพบว่าส่วนใหญ่จะไม่พร้อมตั้งแต่ท้อง คือไม่รู้ว่าจะท้อง ไม่มีการวางแผน อันนี้เป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ แต่ว่าส่วนน้อยเขาพร้อม แล้วมาไม่พร้อมทีหลังก็มี จะโดยสถานการณ์ของตัวเองหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ว่าในกลุ่มคนที่ท้องไม่พร้อมโดยเฉพาะนักเรียนที่อายุน้อยก็มีจำนวนหนึ่ง ไม่พร้อมเพราะไม่ได้วางแผน”
กฤตยา กล่าวพร้อมกับอ้างอิงข้อมูลจากรายงาน ‘สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย 2556’ ที่จัดทำโดย ภญ.ศิริเพ็ญ ตันติเวสสและคณะที่ทำการสัมภาษณ์แม่วัยรุ่นทั้งหมด 3,114 คน จาก 7 จังหวัด พบว่าร้อยละ 45 ตั้งใจท้องเพราะว่าแต่งงานแล้ว ร้อยละ 55 เป็นท้องที่ไม่พร้อม และตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็ลดลงต่อเนื่อง
“การท้องในวัยรุ่นข้อเท็จจริงที่สรุปได้ก็คือว่าท้องของวัยรุ่นจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นท้องไม่พร้อม เราต้องใช้คำว่าท้องของวัยรุ่นส่วนหนึ่งเป็นปัญหา เราไม่ควรใช้คำว่าท้องวัยรุ่นเป็นปัญหาทั้งหมด เพราะจากงานวิจัยที่ทำประมาณครึ่งหนึ่งไม่มีปัญหา แต่ท้องวัยรุ่นที่จะมีปัญหาส่วนใหญ่เป็นท้องไม่พร้อมที่เป็นเด็กในวัยเรียน เราพยายามชี้ให้เห็นว่ากลุ่มที่ต้องเผชิญปัญหาคือกลุ่มที่อยู่ตรงไหนบ้าง
“เหตุทางด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีมาก เด็กที่มีเงินก็จะสามารถแก้ปัญหา ไม่ว่าเขาต้องการท้องต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ เขาแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า มีข้อมูลมากกว่า เข้าถึงบริการได้มากกว่า ในขณะที่เด็กยากจนหรือไม่มีข้อมูลก็จะลำบากมากกว่า
“ในทัศนะส่วนตัว ถ้าเราใช้คำว่าปัญหาก็คือเราสร้างภาพเหมารวมให้กับวัยรุ่นผู้หญิงทั้งหมดว่า ถ้าเขาท้องก็จะเป็นท้องที่มีปัญหา แล้วข้อเท็จจริงในเชิงสถิติคนท้องมีปัญหาอย่างที่เราคิดว่ามี เช่น มีปัญหาในการเรียน ปัญหาในการทำงาน ปัญหาพ่อแม่ไม่ยอมรับ โดยสัดส่วนแล้วมีน้อยกว่าคนที่ไม่มีปัญหา”
กฤตยาแสดงทัศนะว่า สังคมควรทำให้การท้องทุกท้อง ไม่ว่าจะท้องพร้อมหรือไม่พร้อมเป็นเรื่องปกติก่อน การมองว่าถ้าท้องไม่พร้อมแล้วเป็นปัญหาส่งผลให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือก แต่หากมองว่าท้องทุกท้องไม่ว่าจะตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือเกิดความผิดพลาด เป็นท้องที่สามารถจัดการได้ ไม่ว่าจะด้วยการยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม ประการต่อมาคือต้องทำให้การท้องที่ไม่พร้อมมีทางเลือกและทางเลือกทุกทางนั้นต้องปลอดภัย ถูกกฎหมาย และให้คนทุกกลุ่มทุกเหล่าเข้าถึงบริการได้ เช่น ถ้าเป็นเงินช่วยเหลือก็ต้องถ้วนหน้าซึ่งต้องกลับไปสู่เรื่องรัฐสวัสดิการ
“คิดว่าเรื่องพวกนี้มันเกี่ยวกับเรื่องเพศ สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้หญิงยังไม่มีความปลอดภัยเรื่องเพศ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความปลอดภัยเรื่องเพศ ทำให้คนฉลาดรู้เรื่องเพศ ความตั้งใจหนึ่งของ พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่นก็คือเรื่องเพศศึกษา ค่อนข้างชัดเจนว่าเขามองเรื่องนี้เป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา เรื่องเพศเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยและมันเป็นกับผู้หญิงทุกกลุ่มวัย ถ้าเราสามารถทำให้คนเข้าใจเรื่องเพศ ไม่ละเมิดกัน เข้าใจเรื่องการยินยอมซึ่งสำคัญมาก การคุกคามทางเพศต่างๆ เรื่องเพศต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้คนไม่ละเมิดกันเรื่องเพศ”
ดังนั้น ‘ปัญหาท้องไม่พร้อม’ ในวัยรุ่น อีกด้านของเหรียญอาจเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ย่อหย่อน การขาดโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่จะรองรับ สนับสนุน ความไม่เข้าใจเรื่องเพศ การละเมิด ไปจนถึงการตีตราแบบเหมารวมจากทัศนคติ ความเชื่อ และอุดมการณ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมต่างหากที่ไม่พร้อมจะทำให้การท้องในวัยรุ่นเป็นสิ่งปกติที่จัดการได้
เขียน : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
- 26614 views