วงเสวนาจี้ทบทวนกลไกกระบวนการยุติธรรมผลักเหยื่อความรุนแรงเป็นอาชญากร แนะสืบต้นตอมูลเหตุความรุนแรงในครอบครัวเพื่อพิจารณาโทษ เผยผู้หญิงส่วนใหญ่หากถูกกระทำรุนแรงยาวนาน จะสะสมความเครียดจนทนไม่ไหว สุดท้ายต้องทำเพื่อเอาตัวรอด ชี้การพยายามรักษาชีวิตคู่ไม่ใช่ทางออก
เมื่อเร็วๆ นี้ ในเวทีเสวนา “เมื่อกระบวนการยุติธรรมมองเห็นเหยื่อความรุนแรงเป็นอาชญากร”จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวปี2552 พบว่ามีกรณีภรรยาเป็นผู้กระทำกว่า 27 ข่าว ในจำนวนนี้ภรรยาเป็นคนฆ่าสามี 24 ข่าว ขณะที่ปี 2553 ลดลงเหลือเพียง 2 ข่าว และปี 2556 กลับเพิ่มสูงขึ้น12 ข่าว ขณะเดียวกันหากสำรวจฝ่ายสามีที่กระทำต่อภรรยาในปี 2552 มีสูงสุด คือ 72 ข่าว จำนวนนี้สามีฆ่าภรรยา 42 ข่าว และปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 46 ข่าว ซึ่งปี 2556 ลดลงเหลือ 31 ข่าว สำหรับปัจจัยที่ภรรยาฆ่าสามีมาจากถูกกระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกายอย่างต่อเนื่อง จับได้ว่าสามีมีหญิงอื่น ส่วนสาเหตุที่สามีฆ่าภรรยานั้น มาจากความหึงหวง ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกาย บังคับหลับนอน เป็นต้น
ทั้งนี้จากที่มูลนิธิฯ ได้ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวและผู้หญิงที่ฆ่าสามี จะพบว่า ส่วนใหญ่มีความเครียดวิตกกังวล เก็บกด นอนไม่หลับจนต้องพึ่งยา บางรายคิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากกลัวว่าสามีจะมาทำร้ายหรือฆ่าตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยากฆ่าสามี เพราะสังคมแบบชายเป็นใหญ่ฝึกและปลูกฝังให้ปฏิบัติดูแลสามี ดูแลคนในครอบครัว แต่สาเหตุที่ฆ่าเพราะมาจากเงื่อนไขการป้องกันตัวเองและทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้สามีมาทำร้ายลูก ทำร้ายครอบครัว ซึ่งอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจมิติความรุนแรงในครอบครัว ต้องมองให้เห็นความจริงใต้ภูเขาน้ำแข็ง มองแค่ปรากฏการณ์ปลายยอดไม่ได้ ส่วนการพยายามรักษาชีวิตคู่ หรือมีกลไกไกล่เกลี่ยให้สองฝ่ายคืนดีโดยที่ไม่เต็มใจจะส่งผลเสียอาจเป็นชนวนที่นำไปสู่ความสูญเสียได้
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เกือบทั้งหมดของผู้หญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน มักจะเกิดอาการเครียดสะสม และจะมีความรู้สึกว่าทนไม่ไหว พยายามหาทางออก แต่ปัญหาก็ยังวนเวียนอยู่ จนเหมือนหมดหนทาง สุดท้ายนำไปสู่การฆ่าเพื่อเอาตัวรอด สอดคล้องกับในต่างประเทศถ้าผู้ถูกกระทำต่อเนื่องยาวนานภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสามีภรรยา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือสภาพที่ทำให้ไม่มีทางออก ยิ่งสามีกระทำรุนแรงต่อลูกด้วย หรือต่อคนอื่น เช่น พ่อแม่ ก็ยิ่งทำให้หมดหนทางจนนำมาสู่การฆ่าในที่สุด ดังนั้นความรุนแรงลักษณะนี้มันมีสาเหตุมีเรื่องราวที่สะสมมายาวนานมันไม่ใช่เรื่องของการลุแก่โทสะหรือฆ่าเพื่อหวังประโยชน์ แต่ทำเพราะต้องการเอาชีวิตรอด อีกทั้งยังมีประเด็นเชิงอำนาจผู้ชายใช้อำนาจครอบครองผู้หญิง “กรณีนี้ในต่างประเทศมีการทำวิจัยและเสนอต่อกระบวนการยุติธรรม จนเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้ และยังไม่มีการนำเรื่องเหล่านี้เข้าไปปรับระบบกระบวนการยุติธรรม
ขณะที่ตำรวจซึ่งเป็นฝ่ายต้นเรื่องในการทำสำนวน มักจะไม่รับฟังหรือทำสำนวนต้นเหตุของความรุนแรง แต่จะมุ่งแค่ประเด็นในการฆ่า ซึ่งส่วนใหญ่หากเป็นภรรยาฆ่าสามีจะถูกตั้งข้อหาจงใจเจตนาไตร่ตรองมีโทษประหารสูงสุดน้อยมากที่จะทำสำนวนว่าเป็นการบันดาลโทสะไม่เจตนา อย่างไรก็ตาม กระบวนการยุติธรรมต้องสืบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้มูลเหตุครบถ้วน แต่ศาลไทยไม่เคยทำเรื่องนี้ จึงอยากให้นำประเด็นความรุนแรงที่ทำให้เกิดการฆ่า เพื่อเข้าไปปรับการพิจารณาโทษในกระบวนการยุติธรรม และหากเป็นไปได้ควรบรรจุไว้ในหลักการเรียนการสอน เริ่มต้นตั้งแต่ในโรงเรียนสอนกฎหมายทุกระดับ โรงเรียนตำรวจ สภาทนายความ ฯลฯ” รศ.ดร.กฤตยากล่าว
รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระในฐานะคนทำงานกับผู้ต้องขังหญิง กล่าวว่า จากงานวิจัยชัดเจนมากว่าความรุนแรงที่พบมากที่สุด คือความรุนแรงในครอบครัวและเป็นความรุนแรงที่ยาวนานที่สุด เช่น มีพันธสัญญาในการเลี้ยงลูกทนเพื่อลูกเพื่อครอบครัว ต่างจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นข้างนอกทั่วไปและเมื่อไปแจ้งความตำรวจมักจะมองเป็นเรื่องภายในครอบครัวไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ความรุนแรงดำเนินไปจนไม่มีการควบคุม เช่น อาการของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจนชินชาแต่ไม่ได้รับการแก้ไขจนต้องโทษตัวเองตลอดเวลานำมาสู่ความบอบช้ำเกิดขึ้นทั้งตัวเองและลูก
“มิติกฎหมายกระบวนการยุติธรรมยังเข้าไม่ถึงความละเอียดของประเด็นความรุนแรงในครอบครัว หากจะตัดสินว่าใครเป็นคนฆ่าคงไม่เพียงพอ เพราะเหยื่อจะถูกทำให้เป็นอาชญากรทันที ดังนั้นควรลงลึกถึงประเด็นความรุนแรงในครอบครัวเนื่องจากมีหลายบริบทมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น เคยถูกกระทำข่มขู่บังคับสะสมให้เกิดความกลัว สุดท้ายต้องตอบโต้เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้บรรจุความรุนแรงในครอบครัวใส่เข้าไปประกอบการพิจารณา หรือการใช้ดุลยพินิจของศาลควรมีการทบทวนมาตรฐานกำหนดโทษ เนื่องจากต้องคิดถึงสภาวะสิ่งที่ผู้หญิงเผชิญตามความเป็นจริง ซึ่งในต่างประเทศได้พิจารณาคดีลักษณะนี้มาแล้ว และเคยมีการปล่อยตัวภรรยาที่ฆ่าสามีเพื่อพิจารณาคดีใหม่” รศ.ดร.นภาภรณ์ย้ำ
ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่ซุกซ่อนแอบแฝงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ขณะนี้ความรุนแรงในครอบครัวของสังคมไทยติดอันดับโลกไปแล้ว แม้เราจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แต่ในทางปฏิบัติ เรายังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ตระหนักในบทบาทหน้าที่ ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเท่าที่ควร ดังนั้นการทำหน้าที่เพื่อผดุงความยุติธรรมจึงไม่ใช่แค่ตีความตามตัวบทกฎหมายแต่ต้องปกป้องคุ้มครองความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ปกป้องคุ้มครองตนเองไม่ได้ แหละนี่คือความหมายของคำว่าการผดุงความยุติธรรมอย่างแท้จริง
- 99 views