สรรพากรรีดภาษีภาคประชาชน พบหลายแห่งเตรียมล้มละลายหลังโดนแจ้งภาษีอ่วมหลักล้าน ร้องกระทรวงคลังเร่งหาทางออก หยุดภาษีไม่เป็นธรรม ตีความเยี่ยงธุรกิจ ยืนยันไม่มีกำไรจากโครงการช่วยเหลือสังคม
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ที่กระทรวงการคลัง นางปรีดา คงแป้น กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชุมชนไท พร้อมด้วย นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.)และตัวแทนองค์กรที่รับทุนทำโครงการให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านทาง นางสาวกมลทิพย์ เผ่าทอง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม
นางปรีดา กล่าวว่า สรรพกรส่งหนังสือมาที่ธนาคารให้อายัดเงินของมูลนิธิชุมชนไท จำนวนกว่า 250,000 บาท อ้างว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง และธนาคารก็ต้องทำตามกฎหมาย โดยสรรพกรไปตีความว่างบประมาณที่มูลนิธิได้รับเป็นการ “รับจ้างทำของ” ให้กับ สสส. แต่ในความเป็นจริงแล้ว มูลนิธิรับทุนสนับสนุนเพื่อนำมาทำกิจกรรมให้กับสังคม โดยแยกส่วนเงินเดือนบุคลากรออกเป็นรายรับและรายได้ เสียภาษีส่วนนี้อย่างครบถ้วน ขณะที่สรรพกรกลับใช้วิธีคิดเยี่ยงธุรกิจกับการทำงานเพื่อสังคม โดยนำเงินรายได้เหล่านั้นมาคิดภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังไปอีก ซึ่งเป็นการตีความที่มีปัญหา จึงได้มีคำสั่งชะลอการเก็บภาษีย้อนหลังแบบนี้จาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายรัฐมนตรี ออกมากว่า 1 ปีแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นปัญหาในหลายพื้นที่
“เราไม่ได้หนีภาษี ทำงานไม่ได้แสวงหากำไร หรือเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจใด ๆ จึงไม่ควรที่รัฐบาลจะมาเรียกเก็บภาษี แต่ควรมาช่วยสนับสนุนให้เราได้ทำงานฟื้นฟูพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองไทย เราเป็นหนึ่งในมูลนิธิที่ โดนสรรพกรกระทำในลักษณะนี้ เราได้ชี้แจงขออุทธรณ์ และจะร้องเรียนเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เรื่องที่เราทำมันไม่ใช่กำไร ไม่ใช่รายได้ที่เป็นธุรกิจ แต่เราทำเพื่อชุมชน สังคม คนชายขอบได้มีวิถีชีวิตและสุขภาวะที่ดี เราเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ทำให้เกิดพื้นที่เข้มแข็งต้นแบบการศึกษาดูงานในระดับโลกมากมาย เช่น ตลาดร้อยปีสามชุก สามารถฟื้นฟูจากตลาดเก่าที่ตายแล้วกว่า 10 ปี กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานของรัฐอีกหลายหน่วยงาน สนับสนุนให้ชาวบ้านได้มาแลกเปลี่ยนดูงาน ประชุมสัมมนาทำแผนในพื้นที่ ทำข้อมูล อบรมนักสื่อสารชุมชน” นางปรีดา กล่าว
ด้านนายจะเด็จ ชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากที่ภาคีองค์กรภาคประชาชนได้ขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขปัญหาภาษีที่ไม่เป็นธรรม กับองค์กรที่รับทุนสนับสนุนการทำโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนกระทั่งมีหนังสือข้อตกลง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 ออกมาจากกรมสรรพากร ดูเหมือนว่าปัญหาภาษีนั้นจะจบลง แต่ในทางปฏิบัติกลับมีองค์กรเพียงส่วนน้อยที่สามารถยุติปัญหาได้ระดับหนึ่ง และชั่วคราวเท่านั้น แต่สำหรับองค์กรที่รับทุนสนับสนุนเป็นแผนงาน ซึ่งส่วนใหญ่มีบุคลากรมากกว่าสิบคน กลับถูกไล่บี้ รีดภาษีไม่หยุด โดนหมายเรียก โดนประเมินภาษี ถึงขนาดถูกอายัดบัญชี
“แม้ว่าในส่วนของงบประมาณจัดกิจกรรม จะไม่ถูกตีความเป็นการรับจ้างทำของเพื่อรีดภาษีแล้วตามการตีความเดิมที่สร้างปัญหามาก แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของค่าบริหารจัดการ เช่น เงินเดือน, ค่าสาธารณูปโภค, ค่าเช่า ฯลฯ ถูกเหมารวมว่าเป็นเงินได้ของมูลนิธิทั้งก้อน ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีอีก 7% ย้อนหลัง และถูกเบี้ยปรับสารพัด เสมือนหนึ่งเป็นองค์กรที่แสวงหากำไร มีรายได้เยี่ยงธุรกิจ ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งทั้งๆ ที่ในการใช้จ่ายต่าง ๆ มูลนิธิได้จ่ายภาษีด้วยแล้ว เช่น เงินเดือนได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนจ่ายให้เจ้าหน้าที่โครงการ ซึ่งเจ้าหน้าที่โครงการก็ไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลประจำปี หรือค่าสาธารณูปโภค ก็มีการจ่ายรวม vatอยู่แล้วด้วยการคิดภาษีที่ไม่เป็นธรรมและเก็บซ้ำซ้อนแบบนี้ ทำให้แต่ละองค์กรมีภาษีที่ต้องจ่ายหลายล้านบาทส่วนของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มีการคำนวณคร่าวๆ จากสรรพากร ที่ต้องจ่ายมากกว่า7ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง มูลนิธิไม่สามารถมีเงินมาจ่ายได้อยู่แล้ว เพราะเราไม่มีกำไรไม่มีเงินสะสมแบบธุรกิจ”นายจะเด็จ กล่าว
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่าการรีดภาษีแบบนี้เท่ากับการยัดเยียดให้เราเป็นองค์กรที่แสวงหากำไร ซึ่งไม่ยุติธรรมที่ผ่านมาเราเห็นการยกเว้นภาษีให้องค์กรภาคธุรกิจ เกิดขึ้นในหลายรูปแบบในรัฐบาลนี้ แต่อีกด้านหนึ่งองค์กรที่ทำงานช่วยภาครัฐในการลดปัญหาสังคม สร้างความเข้มแข็งสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน ซึ่งเป็นช่องว่างที่ภาครัฐยังเข้าไม่ถึง กลับถูกรีดภาษีอย่างไม่เป็นธรรม รัฐบาลนี้กำลังสร้างมรดกบาปให้กับคนทำงานภาคสังคม ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นเรายังหวังว่ารัฐบาลจะทบทวน กรมสรรพากร สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จะรีบยุติปัญหานี้ ก่อนที่องค์กรต่างๆจะเข้าสู่สภาวะล้มละลาย
โดยเครือข่ายมีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังต่อไปนี้
1. ขอให้กำหนดมาตรการยกเว้นการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญา ตามประมวลรัษฎากรสำหรับผู้รับทุนดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันโดยเร็ว เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นกิจกรรมด้านส่งเสริมความรู้ และทักษะ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นการทำงานด้านสังคม มิใช่ธุรกิจเชิงพาณิชย์
2.ขอให้กำหนดมาตรการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญารับทุนสร้างเสริมสุขภาพของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และการรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐทั้งหมดเพื่อมาดำเนินการในการช่วยเหลือสังคม เพราะเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของรัฐ
ทั้งนี้ปัจจุบันมีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 291) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของวิสาหกิจเพื่อสังคม จึงขอเรียนเสนอให้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรยกเว้นภาษีให้กับ หน่วยงาน องค์กร ที่ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ เช่นเดียวกับองค์กรที่ดำเนินงานวิสาหกิจเพื่อสังคม
3.ระหว่างดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น ขอให้กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ชะลอการเรียกเก็บภาษี ตามหนังสือกรมสรรพากร ด่วนที่สุด ที่กค 0710/6611 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2561และให้มีการรับฟังสภาพปัญหาจากองค์กรที่ถูกเรียกเก็บภาษีไม่เป็นธรรม เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ซึ่งเป็นผู้พิจารณาการแก้ไขปัญหาก่อนหน้านี้จนนำมาซึ่งหนังสือกรมสรรพากรดังกล่าว เร่งหารือรอบใหม่เพื่อยุติปัญหาโดยขอให้มีตัวแทนของ ขสช.เข้าร่วมในการหารือนี้ด้วย
- 403 views