เสวนาชำแหละ พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัวฯ หลังถูกแขวนรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ลั่นต้องมีคนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ชี้เนื้อหาผิดเจตนารมณ์กฎหมายเดิมปี 50 หลงทิศไปเน้นไกล่เกลี่ย วังวนอยู่กับมายาคติเก่า “ลิ้นกับฟัน” เพื่อรักษาสถาบันครอบครัว จนกลายเป็นเงื่อนไขความรุนแรงสุ่มเสี่ยงที่จะจบลงที่โศกนาฎกรรม ด้าน “ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว” ระบุขาดมาตรการติดตามดูแลเยี่ยมบ้าน เทงานอำนาจ-ดุลพินิจให้พมจ.ที่มีจุดอ่อน ทั้งกำลังคน ทักษะ และคุณภาพ จี้ต้องขีดเส้นให้ชัดหากเกิดความรุนแรงซ้ำต้องหยุดกระบวนการไกล่เกลี่ย เตรียมขอเข้าพบ รมว.พม.
เมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ องค์กรสตรีและภาคีเครือข่าย จัดเสวนา หัวข้อ “บทเรียน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 เดินหน้าสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร” ภายหลังกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ถูกบังคับใช้ ด้วยการออกพระราชกำหนด ชะลอ และยังต้องรอการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า การยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ กลับผิดเจตนารมณ์เดิมโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการคุ้มครอง ซึ่งความรุนแรงเกี่ยวข้องกับค่านิยมความเชื่อ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศกดทับผู้หญิงให้ยอมอดทน ยอมจำนน ในกฎหมายฉบับใหม่เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น กลับไปส่งเสริม ไกล่เกลี่ยเป็นหลัก ซึ่งเจตนารมณ์กฎหมายเปลี่ยนทันที ภายใต้ความเชื่อที่ว่าต้องทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งให้ได้ต้องมี พ่อแม่ลูก เป็นเงื่อนไขคนที่ทำความรุนแรงได้แก้ตัว เอื้อให้ใช้ความรุนแรงซ้ำๆอยู่กับครอบครัวต่อไปได้
“ด้วยความเชื่อดั้งเดิมแบบไทยว่า ลิ้นกับฟันย่อมกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา นี้คือวิธีคิดส่งเสริมความรุนแรง เพราะไม่มีใครมีสิทธิ์ตบตีใช้ความรุนแรงเมื่อใช้ชีวิตคู่หรือแต่งงานกันแล้ว นี้คือมายาคติในสังคมไทย ซึ่งสามีภรรยาสามารถยุติความสัมพันธ์กันได้ เมื่อไปต่อไม่ได้ แต่เราถูกหล่อหลอมให้พยามอยู่เพื่อลูก ถ้าไม่ทำก็ถือว่าล้มเหลวในชีวิตครอบครัว ค่านิยมรักษาสถาบันครอบครัวยิ่งชีพ ยิ่งผลักให้เกิดความรุนแรง และตามมาด้วยโศกนาฎกรรม ผู้ที่มีอำนาจน้อยถูกทำให้อดทน จำนน สร้างมายาคติคนดี ให้กลับตัว ให้โอกาสครั้งแล้วครั้งเล่า” น.ส.นัยนา กล่าว
น.ส.นัยนา กล่าวว่า ข้อเสนอที่เรียกร้องมาตลอดคือ กฎหมายจะต้องทันโลก ทันสถานการณ์ในกรณีนี้กฎหมายต้องออกมาเพื่อเพิ่มอำนาจให้ผู้ถูกกระทำไม่ใช่อยู่ตรงกลาง ซึ่งมันไม่เป็นธรรมกฎหมายต้องเป็นตัวช่วยเพราะต้นทุนไม่เท่ากัน ต้องเอาคนมีอำนาจน้อย คนที่ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง ต้องรับฟังว่าเขาต้องการอะไร ปัญหาสำคัญคือตัวกฎหมายฉบับใหม่ไม่เป็นไปตามหลักสากล ที่จะคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวได้ซึ่งต้องเสริมพลังทั้งอำนาจภายในและอำนาจภายนอก เช่น ความจริงเป็นเช่นไรให้กระบวนการว่ากันต่อ แต่เฉพาะหน้าต้องฟังเหยื่อ ต้องฟังเสียงผู้ถูกกระทำเป็นหลักก่อน
น.ส.ฐาณิชชา ลิมพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ในกฎหมายฉบับใหม่ กระบวนการไกล่เกลี่ย ผู้กระทำกับผู้เสียหาย มอบอำนาจหน้าที่ให้กับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) มาเป็นกลไกในการไกล่เกลี่ย และใช้กฎหมาย มีบทบาทมากมาย ให้ดุลยพินิจการทำงานมากเกินไป ซึ่งจุดอ่อนสำคัญคือ พมจ.บุคคลกรมีจำกัด นักวิชาชีพอื่นๆไม่มี รวมทั้งคุณภาพ ทักษะในการทำงาน ซึ่งไม่มั่นใจว่ามาตรฐาน พมจ.เป็นมาตรฐานเดียวเหมือนกันหมดในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดซึ่งมีประจำทุกจังหวัด ขณะเดียวกันก็ไม่มีการเขียนกฎหมายให้ชัดเจนหากถูกกระทำซ้ำ ว่ามีมาตรการอย่างไร ซึ่งต้องเขียนให้ชัดขีดเส้นไปเลยว่าถ้าถูกกระทำซ้ำจะไม่มีการไกล่เกลี่ยเกิดขึ้น ทั้งนี้กระบวนการคุ้มครองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ละเอียดรอบคอบ ผู้หญิงหรือผู้ถูกกระทำเมื่อออกมาสู้ ปกป้องตนเองก็ต้องมีกฎหมายหรือการดูแลที่สามารถการันตีได้ว่าพวกเขาจะปลอดภัย
ด้าน น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า ภาคประชาชนคัดค้านกฎหมายนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ที่ถูกกระทำไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับไปให้โอกาสผู้กระทำความผิดซึ่งมันยิ่งทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ปลอดภัย และที่สำคัญบทบาทหน้าที่ไปตกอยู่ที่ พมจ.ในแต่ละจังหวัดซึ่งมีลงไปในระดับชุมชนอีกที่เรียกว่า ศูนย์พัฒนาชุมชนซึ่งกลไกในระดับชุมชนนี้เป็นลักษณะอาสาสมัคร ภารกิจส่งเสริมในส่วนนี้จึงไม่มีความชัดเจน ขณะที่กฎหมายการคุ้มครองก็ไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ผู้เสียหายต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการถูกปฏิเสธรับแจ้งความอีกเหมือนเดิม กฎหมายควรเขียนเรื่องการป้องกันการใช้ความรุนแรงให้ชัดเจน รวดเร็ว อันเป็นกลไกที่ต้องมีรองรับเกื้อหนุนระบบกัน
ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ต้องยอมรับว่านี้คือผลของความดันทุรัง จากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นแค่พิธีกรรม ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากองค์กร ภาคีพันธมิตรที่มีประสบการณ์และทำงานกับเรื่องนี้มายาวนาน การถูกตั้งธงไว้แล้วและพยายามทำทุกทางเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาให้ได้ตามธงที่วางไว้ เสมือนหนึ่งเป็นตัวชี้วัดอะไรบางอย่างซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เราเชื่อว่าเรื่องนี้ในชั้นยกร่างพิจารณากฎหมาย หากรับฟังกันอย่างจริงใจไม่อคติเราจะไม่เดินทางถึงจุดนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ต้องมีคนรับผิดชอบ กระทรวง พม.ต้องสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นนี้ให้ดี มองให้เห็นปัญหา ว่าที่ผ่านมามีการจัดวางคนที่เหมาะสมกับงานดีพอแล้วหรือยัง ทำไมเสียหลักไปได้ขนาดนี้ เมื่อต้องมาตั้งหลักกันใหม่ ขอให้เน้นการออกแบบกระบวนการต่างๆที่มีความจริงใจ สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้น และวางหลักไว้ให้ชัดว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คืออะไรกันแน่ อย่าเอาทุกอย่างมาใส่จนสร้างความเสียหาย หาหลักการไม่เจอ และนับจากนี้ไปภาคีเครือข่ายจะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ว่า พม. จะจัดการเรื่องนี้ไปในทิศทางไหน และเร็วๆนี้เครือข่ายฯ จะขอเข้าพบ รมว.พม. เพื่อหารือในเรื่องนี้เป็นการด่วน
- 187 views