นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : ปัจจุบันในประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบเข้ามาค้าแรงงาน ซึ่งยังคงมีมุมมองที่หลากหลายแตกต่างในการดูแลคนเหล่านี้ ทั้งในด้านความถูกต้องตามกติกา การเข้ามาแย่งงานคนไทย และขณะเดียวกันก็มีแง่มุมของมนุษยธรรม ที่ถูกตั้งคำถามว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ควรได้รับสิทธิในด้านสภาพการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานไทย ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงการทำงาน วันหยุด วันลา ความปลอดภัยในการทำงาน สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมไปถึงการได้รับสิทธิ "ประกันสังคม" ด้วยหรือไม่
นางกฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเป็นห่วงแรงงานข้ามชาติ ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการมีหลักประกันที่ดีให้กับแรงงานเหล่านี้ พร้อมชี้ว่าประเภทแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานข้ามชาติ พ.ศ.2557 อาจยังไม่ครอบคลุม รวมถึงจำนวนแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมที่ดี ควรมีลักษณะพื้นฐานสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือจะต้องมีกลุ่มขนาดใหญ่ มาแชร์ความเสี่ยง ดังจะเห็นได้จากกองทุนแรงงานไทยนั้น มีขนาดใหญ่ จนภาครัฐจ้องตาเป็นมัน และอีกประการ คือความโปร่งใสในการบริหาร ที่จะต้องให้หลักประกันว่า เงินถูกนำไปใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์
นางกฤตยา บอกว่าการประกันตนนั้น จะทำให้พวกเขามีความมั่นคงในชีวิต เช่น เมื่อเจ็บป่วยก็ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานต่างด้าวทำให้พวกเขาได้รับสิทธิ์เข้ากองทุนประกันสังคม ขณะที่ก่อนหน้านี้ พวกเขาต้องซื้อบัตรสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ตามเงื่อนไขเพื่อรับการจ้างงาน จำนวน 1.9 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ
"ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เราจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติ ความคิดตั้งกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ แยกออกมาจากกองทุนประกันสังคมทั่วไป คำถามจึงมีอยู่ว่า กองทุนนี้จะช่วยเพิ่มความคุ้มครอง เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตให้ ผู้ประกอบการหรือไม่"
น.ส.แก้วขวัญ ตั้งพิพงศ์กุล นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการแยกประเภทกองทุนประกันสังคม ให้กับแรงงานข้ามชาติเป็นการเฉพาะ พร้อมกับยกข้อมูลที่กำลังศึกษาวิจัยในประเด็นการประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งพบว่า ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีในอาเซียน แรงงานไทยเพียงชาติเดียวที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคมของรัฐครบ 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.การรักษาการเจ็บป่วย 2.การคลอดบุตร 3.การได้รับผลกระทบจนต้องทุพพลภาพ 4.การเสียชีวิต 5.การสงเคราะห์บุตร 6.การชราภาพ 7.การว่างงาน
แม้ว่าในบางประเทศ แรงงานจะได้รับสิทธิประโยชน์เพียงบางด้าน ในขณะที่การสถาปนากลุ่มประเทศอาเซียนพบว่า ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะเป็นชาติที่ยอมให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิประกันสังคมที่เท่าเทียมกัน แต่ความเป็นจริง สิทธิการเข้าถึงระบบประกันสังคมนั้นเป็นเรื่องยาก และต้องขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจัดกลุ่มออกแบบโครงสร้างระบบประกันสังคมให้เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ และควรวางแผนทั้งในระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการวางแผนกำลังคนและทำให้แรงงานได้รับการประกันสังคมที่เท่าเทียมกันไปในวาระเดียวกัน
นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน ชี้ว่า ทุกคนในประเทศก็อยากให้แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับแรงงานเจ้าของประเทศ และความเท่าเทียมนี้ มีแนวโน้มในทิศทางเดียวกันกับองค์การสหประชาชาติ ที่มีเป้าหมายให้โลกมีพัฒนาการที่ยั่งยืน
"การพัฒนาที่ยั่งยืน อาจหมายถึงการจ้างงานเต็มอัตรา การมีผลิตผลที่เต็มประสิทธิภาพ แต่ทุกคนควรได้รับงานที่มีคุณค่ากับคนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่พูดเฉพาะตัวเลขทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันกฎหมายประกันสังคมในประเทศไทย ยังห่างไกลคำว่าดีที่สุดเพราะยังมีปัญหา 2 เรื่อง ที่ต้องได้รับการแก้ไข ประกอบด้วย 1.การที่นายจ้างไม่นำพาแรงงานเข้าระบบ 2. คณะกรรมการที่เข้ามาบริหารกองทุนประกันสังคม ยังมีข้อจำกัดที่อาจถูกแทรกแซง จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่ทำให้การบริหารงานมีอิสระ"
นางสุนี ระบุด้วยว่าเงินกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ยังไม่สามารถปกป้องคุ้มครองแรงงานไทยในประเทศได้ แล้วการแยกกองทุนออกมาบริหารให้เฉพาะแรงงานข้ามชาติ อะไรจะเป็นหลักประกัน
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน นักวิจัยสิทธิแรงงาน ระบุเหตุผล 4 ข้อหลักที่ทำให้เกิดความคิดแยกกองทุนประกันสังคมให้กับแรงงานข้ามชาติ คือ 1.มองว่าการทำงานของแรงงานข้ามชาติ มีรูปแบบไม่เหมือนแรงงานไทยในประเทศ ทำให้สิทธิประโยชน์ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับแรงงานในประเทศ และยังสอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติด้วย 2.มุมมองการเปรียบเทียบกับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมในประเทศอื่น ที่ให้ไม่ดีเท่ากับคนในชาติ 3.ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ 4.เป็นเจตนาที่ชัดเจนที่ไม่ต้องหากให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับคนไทย
"แต่หลักการสำคัญของหลักประกันสังคม ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเฉลี่ย ความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ ที่ต้องไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ"
นายมนัส โกศล นายกสมาคมองค์กรพัฒนานายจ้าง ตั้งคำถามกับรัฐบาลถึงการค้ำประกัน หากมีการแยกกองทุนประกันสังคมให้กับแรงงานข้ามชาติแล้ว ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุขัดข้อง หรือกองทุนไม่เกิดสภาพคล่องทางการเงิน รัฐจะเข้ามาจัดการอย่างไร เนื่องจากลักษณะสิทธิประโยชน์ของเงินบำนาญทั้งจากแรงงานในประเทศและแรงงานข้ามชาติ ล้วนเป็นเงินก้อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหากต้องแยกกองทุนประกันสังคมเพื่อแรงงานข้ามชาติ จะกระทบกับกองทุนเดิมหรือไม่ !!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 กันยายน 2558
- 12 views