นับตั้งแต่ปี 2545 ที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประเทศไทยได้มีการเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในปี 2545 ประเทศไทยได้ลงทุนด้านสุขภาพคิดเป็นสัดส่วน 10.7% ของงบประมาณทั้งหมด หรือ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวประชากร และเพิ่มขึ้นเป็น 222 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวประชากร ในปี 2559 หรือคิดเป็น 15.6% ของงบประมาณทั้งหมดในปีนั้น

การลงทุนดังกล่าว สามารถลดภาวะล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลลงได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือจาก 7% ในปี 2545 เหลือเพียง 2.26% ในปี 2559

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจำนวนการเข้าถึงบริการจะเพิ่มมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ทางสุขภาพกลับยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง (NCDs) อันมีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งข้อมูลปี 2561 พบว่า มีประชาชนที่ได้รับการตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูง 51.8% แต่สามารถควบคุมระดับความดันได้เพียง 14.9 % เท่านั้น หรือสรุปได้ว่า ผู้ป่วย 100 ราย รักษาได้ผลประมาณ 15 รายเท่านั้น

โรคเรื้อรังและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงกลายมาเป็นสาเหตุที่ทำให้แนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นทุกปี ฉะนั้นหลักการจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการตามปริมาณงาน และทรัพยากรที่ใช้ไป (volume and resources based) อาจจะไม่เหมาะสมและไม่เพียงพอได้ในระยะยาว

ศาสตราจารย์ Michael E. Porter นักยุทธศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน จึงได้เสนอหลักการใหม่ในการจ่ายชดเชย เรียกว่าหลักการจัดบริการที่เน้นคุณค่า (value-based healthcare) โดยมีสมการคือ คุณค่า (value) เท่ากับ ผลลัพธ์ทางสุขภาพ (outcomes) หารด้วย ค่าใช้จ่าย (costs)

สำหรับค่าใช้จ่าย หมายถึงต้นทุนที่เกิดจากการจัดบริการสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้งค่าตามมาตรฐาน และที่เกิดจากความผิดพลาดซ้ำซ้อนและความด้อยประสิทธิภาพของระบบ (ก่อน ระหว่าง และหลังจัดบริการ)

หลักการจัดบริการที่เน้นคุณค่านี้ จะช่วยสร้างสมดุลให้กับการจ่ายชดเชยให้กับบริการได้ในระยะยาวและยังสอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการสุขภาพที่มีการกำหนดมาตรฐานเพื่อตรวจรับรองก่อนให้บริการ ต่อมามีการพัฒนาการเยี่ยมสำรวจ และการเรียนรู้โดยสถาบันรับรองและพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.) รวมไปถึงการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาพ จากองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย ตลอดจนการพัฒนาปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ (social determinants of health) เช่น อาหารปลอดภัย การส่งเสริมออกกำลังกาย การลดมลพิษต่าง ๆ

ทว่า ก็ยังมีเรื่องที่ท้าทายต่อการพัฒนาผลลัพธ์ทางสุขภาพอยู่ นั่นก็คือการสร้าง ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) เพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง คิดและตัดสินใจในการดูแลสุขภาพอย่างมีเหตุผล การตัดสินใจไปใช้บริการอย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการจัดบริการ (demand and supply) ของผู้จัดบริการที่เหมาะสม เพิ่มการมีส่วนร่วมในการรับรู้ และใช้ข้อมูลสุขภาพที่คำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ป่วย (patient experience) ร่วมกัน และการกระจายทรัพยากรต่างๆ ที่มีความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมไปถึงการออกแบบการจ่ายที่สนับสนุนการจัดบริการที่เน้นคุณค่ามากขึ้น เช่น การจ่ายตามผลลัพธ์ การเหมาจ่ายแบบมัดร่วม (bundle payment) เป็นต้น

สำหรับการบริหารค่าใช้จ่ายทั้งของหน่วยบริการและประชาชน ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในเขตชนบทได้ดีพอสมควร แต่ในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับยังขาด ขณะเดียวกันมีการออกแบบบริการที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีนวัตกรรมการรักษาใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็กเจ็บน้อย นอนแค่วันเดียว (one day surgery: ODS) หรือการใช้ยา-อุปกรณ์ใหม่ที่มีต้นทุนการทำธุรกรรมต่าง ๆผ่านดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

มากไปกว่านั้น ยังมีการประเมินเทคโนโลยีทางบริการสุขภาพ (health technology assessment :HTA) เพื่อประกอบการอนุมัติเป็นชุดสิทธิประโยชน์ และการจัดซื้อร่วม และการต่อรองราคาในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ยังขาดการสั่งซื้อหรือการต่อรองร่วมกัน (central procurement or central bargaining) กับอีก 2 ระบบประกันสุขภาพของภาครัฐ และการบริหารคลังยาเวชภัณฑ์และวัสดุการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในตอนต่อไป จะกล่าวถึงแนวทางในการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักต่าง ๆ การผลักดันเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และกลวิธีต่าง ๆ ต่อไป

ผู้เขียน: นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน