จากประเด็นแนวคิดการให้คนจนที่ขึ้นทะเบียนไม่ต้องร่วมจ่าย ส่วนคนที่มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาทต่อปีขึ้นไป ควรร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ทั้งๆ ที่มีการร่วมจ่ายผ่านระบบภาษี แต่ยังมีผู้เข้าใจผิดเรื่องการเสียภาษีอยู่ว่ามีแต่ภาษีรายได้เท่านั้น โดยลืมไปว่ามีระบบภาษีทางอ้อม ที่คนที่ไม่มีรายได้ก็จ่ายภาษีเหมือนกัน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นการร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีไปแล้ว
ทั้งนี้ระบบการสงเคราะห์คนจนมีจุดเด่นที่รัฐบาลคิดว่าจะประหยัดงบประมาณกว่า ช่วยเหลือตรงเป้าหมายมากกว่า แต่ก็มีจุดอ่อนที่สำคัญ ดังนี้
การสงเคราะห์คนจนเหมาะสมในการพัฒนาประเทศระยะแรกๆ และจำเป็นในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็น (cold war) ในช่วง พ.ศ. 2490 – 2534 ที่ผ่านมา แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น กระแสหลักของการพัฒนาประเทศของโลกจะเน้นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ยกระดับรายได้ของประชาชน ควบคู่กับการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ที่สมดุลทางการเงินการคลังระหว่างการลงทุนพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชนผ่านระบบสวัสดิการด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพ การศึกษา สาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาษีให้เป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย อย่างมีประสิทธิภาพ
การระบุคนจน มีความเสี่ยงในการระบุตัวตัวคนจนที่ผิดพลาด (false positive or false negative) และการปรับข้อมูลของรายได้ ทรัพย์สินต่างๆ ให้ทันเหตุการณ์ ซึ่งยังมีจุดอ่อนของระบบข้อมูล และการเชื่อมโยงกันของหน่วยงานต่างๆ
การระบุเส้นความยากจน (poverty line) ที่อาจไม่สะท้อนถึงรายได้ที่มากพอในการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ ดังเช่นกรณีรายได้ 1 แสนบาทต่อปี จะมีรายได้ประมาณ 8,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น
ดังนั้นจึงควรทบทวนทิศทางนโยบายรัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนมีสิทธิ์ มีอำนาจที่จะสามารถการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน การแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เพื่อร่วมตัดสินใจ และติดตามผลงานโดยประชาชนอย่างแท้จริง แทนการคิดและกำหนดจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่ว ไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชา ราษฎร" ซึ่งผ่านนานกว่า 85 ปีแล้ว
ถึงเวลาที่ควรให้คนไทยร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในด้านสวัสดิการสุขภาพ และด้านอื่นๆ ผ่านการเลือกตั้ง และเลือกพรรคการเมืองตามนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และร่วมกำกับติดตามการทำงานต่อไป
ผู้เขียน : นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน
- 13 views